คคบ.ฟัน 1 อสังหาฯ 6 สินค้าและบริการ
การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ วันพุธที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายอนุชา นาคาศัย) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ ณ ห้องประชุม ๑ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๕ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การพิจารณาและมีมติให้ดำเนินคดี เป็นคดีแพ่งกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๑ เรื่อง และดำเนินคดีคดีแพ่งกับผู้ประกอบธุรกิจ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๖ เรื่อง รายละเอียด ดังนี้
ด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๑ เรื่อง
-ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับบริษัทรายหนึ่ง ในราคา ๒,๙๖๓,๒๕๖ และได้ชำระเงินจองและเงินดาวน์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๙๖,๓๒๕.๖๐ บาท โดยในสัญญาฉบับดังกล่าวมีข้อตกลงที่กำหนดว่า “หากโครงการฯ ไม่ได้รับมติเห็นชอบ EIA ภายในไตรมาสหนึ่งของปี ๒๕๖๓ บริษัทจะยอมคืนเงินที่ผู้บริโภคชำระมาแล้วทั้งหมดภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ทำจดหมายขอยกเลิกหนังสือสัญญาจองฉบับนี้” ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทได้รับมติเห็นชอบ EIA แล้ว แต่ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้บริโภคจึงมีหนังสือขอยกเลิกสัญญา ไปยังบริษัทเพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน แต่บริษัทเพิกเฉย ไม่คืนเงินให้ เมื่อบริษัทไม่อาจปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ได้ บริษัทจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การกระทำของบริษัทจึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ด้านสินค้าและบริการ จำนวน ๖ เรื่อง
๑.ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคซื้อรายการนำเที่ยวในราคา ๑๔๙,๘๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าบริษัทไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน ซึ่งบริษัทไม่คืนเงินแก่ผู้บริโภค บริษัทจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่ง
แก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๒ ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อเครื่องเสียง จำนวน ๔ เครื่อง รวมเป็นเงินจำนวน ๕๒,๐๐๐ บาท แต่ผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าไม่ครบถ้วน โดยผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินคืน แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และเป็นการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม จงใจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓.ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้ทำเรื่องศึกษาต่อประเทศออสเตรเลีย โดยชำระเงินจำนวน ๑๗๒,๐๙๕ บาท ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID – ๑๙) ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน แต่บริษัทไม่คืนเงินให้ผู้บริโภค จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔.ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น E 200 CGI จากบริษัทรายหนึ่ง ในราคา ๑,๔๙๐,๐๐๐ บาท และได้ชำระเงินมัดจำเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท โดยในสัญญาขายระบุเลขไมล์ระยะทางที่ ๓๘,๒๖๘ กิโลเมตร และได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับทางบริษัทอีกรายหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคได้ชำระเงินค่าดำเนินการอื่น ๆ เป็นเงินจำนวน ๗๐๔,๘๐๖ บาท แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าว ช่วงล่างมีเสียงดังขณะขับขี่ พวงมาลัยหนัก สัญญาณไฟเตือน “Power Steering Malfunction” ผู้บริโภค จึงได้สอบถามประวัติการเข้ารับบริการของรถยนต์คันดังกล่าว จึงพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้เข้าใช้บริการ ครั้งสุดท้ายในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยปรากฏเลขไมล์ระยะทางที่ ๑๒๗,๘๗๘ กิโลเมตร ซึ่งไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเลิกสัญญา ซึ่งถือได้ว่าบริษัทแห่งนี้กระทำผิดสัญญาและมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายกับบริษัทได้ ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๕.ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น อัลพาร์ด ปี ๒๐๐๙ จากบริษัทผู้ขายรถยนต์ ในราคา ๙๑๐,๐๐๐ บาท และได้มอบสัญญาการรับประกันของบริษัทผู้ให้บริการดูแลซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา ๑ ปี แก่ผู้บริโภค ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับเกียร์และคอมเพรสเซอร์แอร์ ผู้บริโภคจึงนำรถยนต์เข้าซ่อม แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภค จึงได้แจ้งบริษัทผู้ขายให้รับผิดชอบความเสียหาย แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงมีความประสงค์ให้รับซื้อรถยนต์คืนในราคา ๙๑๐,๐๐๐ บาท ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๖.ดำเนินคดีแพ่ง กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจ้างเหมาทำความสะอาด กับร้านแห่งหนึ่ง โดยให้ทำความสะอาดบ้านเดี่ยว ๒ ชั้น จำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่า ร้านฯ ได้ส่งพนักงานมาดำเนินการเพียง ๔ ครั้ง หลังจากนั้นไม่สามารถส่งพนักงานมาทำความสะอาดให้ครบถ้วนตามสัญญา ผู้บริโภคจึงขอบอกเลิกสัญญา และให้คืนเงินส่วนต่าง ซึ่งผู้รับจ้างได้ตกลงผ่านแอปพลิเคชัน โดยผู้จ้างจะยอมคืนเงินส่วนต่าง จำนวน ๖,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้บริโภคในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา ผู้รับจ้างกลับขอเลื่อนนัด และไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ที่ประชุมจึงมีมติ ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้บริษัทคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
Social Links