คคบ.สั่งดำเนินคดี อสังหาฯ 2 ราย สินค้า-บริการทั่วไป 5 ราย แพ่งอีก 7 ราย

คคบ.สั่งดำเนินคดี อสังหาฯ 2 ราย สินค้า-บริการทั่วไป 5 ราย แพ่งอีก 7 ราย

คคบ.สั่งดำเนินคดี อสังหาฯ 2 ราย สินค้า-บริการทั่วไป 5 ราย แพ่งอีก 7 ราย

          วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายอนุชา  นาคาศัย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุม คคบ. ครั้งที่ ๕/๒๕๖๕โดยเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์

          จากการประชุม ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๒ เรื่อง  (ประเภทห้องชุดคอนโดมิเนียม) ธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน  ๕  เรื่อง (คอร์สรักษาสิว รักษารอยเหี่ยวย่นบริเวณหน้าผาก ซื้อคอร์สบริการเสริมความงาม จองห้องจัดเลี้ยงเพื่อจัดงานมงคลสมรส การลงโฆษณาขายองุ่น)  ดังนี้

          ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์  จำนวน ๒ เรื่อง

            ๑.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๖,๖๐๒,๕๐๐ บาท โดยผู้บริโภคชำระเงินจอง เงินทำสัญญา เงินดาวน์ และเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งหมด ๑,๔๗๑,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯ คืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด  ต่อมาบริษัทฯ ได้มีการทำบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เพื่อขยายระยะเวลาการโอนออกไปและเปลี่ยนแปลงวันรับโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้บริโภคยินยอมและลงลายมือชื่อในบันทึกแนบท้าย ภายหลังผู้บริโภคตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ได้นำห้องชุดไปจดทะเบียนอาคารชุดต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร จึงถือว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้แก่ผู้บริโภคได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ประกอบกับผู้บริโภคพบว่าบริษัทฯ ได้นำอาคารชุดไปจดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้บริโภคไม่ตกลงและแสดงเจตนาขอยกเลิกสัญญา ขอให้บริษัทฯ คืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๑,๔๗๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

            ๒.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง  ในราคา ๒,๗๔๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ ๗ ระบุว่า ผู้จะขายตกลงจะทำการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ภายใน ๑ ปี ๖ เดือน นับจากวันที่เริ่มการก่อสร้าง ซึ่งผู้บริโภคได้ชำระเงินให้แก่บริษัทฯ ครบถ้วนแล้ว

โดยตามบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย  บริษัทฯ จะจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้บริโภค ในอัตราเดือนละ ๑๘,๒๖๖.๖๗ บาท จนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค  แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาฯ ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอให้บริษัทฯ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕  ต่อปี มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย          

          ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๕ เรื่อง

            ๑.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สรักษาสิว รักษารอยเหี่ยวย่นบริเวณหน้าผาก และระหว่างคิ้ว กับบริษัmแห่งหนึ่ง ในราคา ๓๘,๕๐๐ บาท หลังใช้บริการปรากฏว่ามีสิวเห่อ สิวอักเสบ สิวหัวหนอง

จึงประสงค์ขอคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว และให้ชดใช้ค่าเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวน ๒๐๑,๐๖๓.๕๐ บาท

จากการพิจารณาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถให้บริการรักษาได้ตามสัญญา และ

ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ

เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๒๐๑,๐๖๓.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

          ๒.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากผู้ประกอบการร้านแห่งหนึ่ง จำนวน ๓ คอร์ส  และไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการ  ซึ่งผู้บริโภคได้ใช้บริการไปแล้วบางส่วน ต่อมาสถานเสริมความงามได้ปิดกิจการ  ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา จากการปิดกิจการไปโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อคอร์สรายอื่น ๆ เข้ามาใช้บริการให้ครบตามสัญญาก่อนปิด หรือไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตลอดจนไม่แจ้งแนวทางทางการคืนเงินส่วนที่ยังไม่ได้รับบริการ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาจากการปิดกิจการดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๒๑,๒๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อศาล เพื่อสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควรด้วย

            ๓.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองห้องจัดเลี้ยงเพื่อจัดงานมงคลสมรสกับบริษัทแห่งหนึ่ง  เป็นเงินจำนวน ๒๔๘,๕๐๐ บาท ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท  ทำให้ผู้บริโภคต้องจัดหาสถานที่จัดงานมงคลสมรสใหม่ จึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๗๔,๙๐๐ บาท จากการเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายปรากฏว่า สามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทฯ ยินดีช่วยเหลือค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท และได้จัดทำบันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐาน ภายหลังบริษัทฯ มิได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด จึงถือว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

            ๔.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง ให้บริการด้านเนอร์สซิ่งแคร์ในการจัดหาพนักงานดูแลผู้ป่วย ผู้บริโภคได้ชำระเงินมัดจำล่วงหน้า เป็นเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท และค่าบริการ เป็นเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้บริโภคได้มีหนังสือขอบอกเลิกสัญญา เนื่องจากพนักงานปฏิบัติงานไม่สนใจดูแลผู้ป่วย ไม่พาผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด ไม่ทำความสะอาดห้องและเตียงของผู้ป่วย ต่อมาผู้ป่วยมีอาการชักโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเชื่อได้ว่าพนักงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่  มีความประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งผู้บริโภคได้มีการแจ้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิ  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ห้างหุ้นส่วน เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

            ๕.กรณีผู้บริโภคได้เข้าไปดูแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการจำหน่ายทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมโดยมีการลงโฆษณาขายองุ่นไซมัสกัสญี่ปุ่น ระบุข้อความว่า ๒-๓ พวง ๗๙๐ บาท  จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงิน ต่อมาผู้บริโภคได้รับสินค้าพบว่าองุ่นที่เพจดังกล่าวเป็นองุ่น ๓-๔ พวง มีขนาดเล็ก ผลองุ่นร่วงออกจากพวงเป็นจำนวนมากและเน่าเสีย ประกอบกับขั้วองุ่นมีลักษณะดำไม่ใช่ของสดใหม่อย่างที่ผู้ขายกล่าวอ้างตามโฆษณา จึงได้มีการติดต่อไปยังเพจดังกล่าวเพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบ แต่ได้รับการปฏิเสธการกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดสัญญาและกระทำการละเมิดสิทธิ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๗๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

          ทั้งนี้  ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๕/๒๕๖๕ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๗ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้กับผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๔,๕๕๙,๐๗๓.๕๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนห้าหมื่นเก้าพันเจ็ดสิบสามบาทห้าสิบสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

You may also like

คปภ.ระดมสมอง แก้ไขแนวปฏิบัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลูกค้าธุรกิจประกันวินาศภัย/ชีวิต

คปภ.ระดม