ค้าปลีกแข่งเดือด-ต้นทุนพุ่ง! คาดปี 2568 โต 3.0%

ค้าปลีกแข่งเดือด-ต้นทุนพุ่ง! คาดปี 2568 โต 3.0%

  • ในปี 2568 แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหนุนให้ยอดขายค้าปลีกแตะ 4.3 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% แต่ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าอดีต เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องค่าครองชีพสูง และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

  • ความเสี่ยงของผู้ประกอบการค้าปลีกในปี 2568 คือ ธุรกิจยังแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่ผู้ผลิตหรือคนจีนเข้ามาทำตลาดโดยตรง รวมถึงต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็น่าจะกระทบต่อความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการแตกต่างกัน

ยอดขายของธุรกิจค้าปลีก ปี 2568 คาดโต 3.0% ชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่โต 4.0% ท่ามกลางค่าครองชีพสูงและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จึงกดดันการใช้จ่าย (รูปที่ 1)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าปี 2568 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินให้ผู้สูงอายุ (เฟส 2) และผ่าน Digital wallet (เฟส 3) มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt และมาตรการคุณสู้เราช่วย รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหนุนยอดขายของธุรกิจค้าปลีกให้ยังคงขยายตัว 3.0% หรือมีมูลค่า 4.3 ล้านล้านบาท แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงและยังต่ำกว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (CAGR 2564-2566) ที่โตเฉลี่ยปีละ 6.1%

อย่างไรก็ดี ยอดขายของค้าปลีกสมัยใหม่  หรือว่า Modern trade น่าจะโตสูงกว่าภาพรวมของตลาด โดยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 4.8% แต่การเติบโตดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้ตลาดในภาพรวมโตสูงเมื่อเทียบกับอดีต แต่เป็นการดึงแชร์มาจากผู้เล่นอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกดั้งเดิม  หรือ Traditional trade สะท้อนจากส่วนแบ่งตลาดของค้าปลีก Modern trade คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในปี 2568 จาก 5 ปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 40% (รูปที่ 2)

ทั้งนี้ ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมมาจากการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้า (รูปที่ 3) แบ่งเป็น

การบริโภคของคนไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 82% ของยอดขายของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ยังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูง กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคกว่า 32% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด  มีการวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการซื้อสินค้า/ใช้บริการลง เช่น ลดทานข้าวนอกบ้าน/ ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น

การบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีสัดส่วนราว 18% ของยอดขายของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ยังคงเพิ่มขึ้นแต่เป็นทิศที่ชะลอลงตามการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอลงในปี 2568 อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังขึ้นกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารที่เป็น Street food มากขึ้น หรือซื้อของฝากน้อยลง ดังนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะที่สัดส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ที่ราว 25%

สินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัวซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 66% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมด ยังคงขยายตัวสูงกว่ากลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย (รูปที่ 4)

แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะฟื้นตัวช้า แต่ในกลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัวคิดเป็นสัดส่วน 79% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมด ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของตลาด สะท้อนได้จาก ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปี 2567 กว่า 42% เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2566 ที่มีสัดส่วน 40%

ขณะที่ อีก 21% ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย น่าจะยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังโตต่ำกว่าภาพรวมของตลาดในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า) เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง/ซ่อมแซมบ้าน โดยมองว่า ผู้บริโภคน่าจะยังมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหรือซื้อเท่าที่จำเป็น เช่น ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม/ตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ผู้ประกอบการค้าปลีกยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงในปี 2568 โดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่อาจปรับสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

  • การแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตจีนเข้ามาทำตลาดโดยตรงผ่านทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรวมถึงผู้ผลิตสินค้าไทยแข่งขันลำบากขึ้น สะท้อนจาก ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน 4.3 แสนล้านบาท ขยายตัว 12% หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้อาจเห็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนมากขึ้น

ต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งแม้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีการจ้างงานกว่า 3.1 ล้านคน และคนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ (ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน) มีราว 1.1 ล้านคน หรือ 35% ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ก็น่าจะทำให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นราว 5.6% แต่ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าปลีกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุน การปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะต้องรอติดตามการประกาศรายละเอียดของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากนี้

You may also like

“AI สุดซื่อ” เรื่อง-ภาพ โดย AI

“AI สุดซ