จับตาธุรกิจปี 67: ผู้บริหารมองบวก
เพราะมั่นใจในเทคโนโลยี
แม้เผชิญความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น
………………………………………..
การพลิกโฉมธุรกิจด้วยเทคโนโลยี: เหล่าผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจต่างแสดงความมั่นใจว่าเทคโนโลยีคือแรงผลักดันอนาคตของการค้าโลก โดย 98% ได้นำ AI มาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดการสินค้าคงคลังไปจนถึงการปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง
การรุกใช้เทคโนโลยี: เนื่องจากความท้าทายต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจต่าง ๆ จึงวางแผนที่จะรุกใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจหนึ่งในสามมุ่งเน้นไปที่ระบบอัตโนมัติขั้นสูง ขณะที่ 28% เน้นบล็อกเชน และ 21% เน้น AI การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์
การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน: ในขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังครอบงำ บริษัทจำนวนมากได้หันมาใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น รวมถึงกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนาน ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าหนึ่งในสี่ลดจำนวนซัพพลายเออร์ให้เหลือน้อยลง
อีโคโนมิสต์ อิมแพค คาดการณ์ว่า GDP โลกจะลดลง 0.9% หากภาษีการค้าสินค้าไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
…………………………………………………..
ในปี 2566 แม้จะมีความท้าทายนานัปการ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่เหล่าผู้บริหารธุรกิจยังคงมีมุมมองบวกอย่างไม่น่าเชื่อต่อธุรกิจในปี 2567 โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานการวิจัยฉบับใหม่ของอีโคโนมิสต์ อิมแพค (Economist Impact) และดีพีเวิลด์ (DP World) ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (16 ม.ค.) ณ การประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum)
ปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาพลิกโฉมประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้า การแบ่งขั้วและแยกส่วนทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางการเมืองกำลังเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ได้หันมาทบทวนความเสี่ยงภายในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง พร้อมกับมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น (Friendshoring) และกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนาน (Dual Supply Chain)
รายงานประจำปี เทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับที่ 4 ซึ่งดีพีเวิลด์มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพค เป็นผู้จัดทำ ได้รวบรวมมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายภูมิภาคและภาคส่วนต่าง ๆ โดยพบว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ความเร่งด่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ได้ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน แต่ก็ยังได้รับโอกาสมากมายเช่นกัน
ปี 2566 มีนัยสำคัญด้านนวัตกรรมห่วงโซ่อุปทาน โดยเทคโนโลยีก่อให้เกิดมุมมองบวกต่อปี 2567
ผลสำรวจผู้บริหารบริษัททั่วโลกจำนวน 3,500 คนพบว่า เทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานคือปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริหารธุรกิจมีมุมมองบวกเมื่อถูกขอให้ประเมินอนาคตของการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AI มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยผู้บริหาร 98% ได้นำ AI มาใช้ปฏิวัติการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างน้อยหนึ่งด้าน
ตั้งแต่การแก้ปัญหาการจัดการสินค้าคงคลัง การลดค่าใช้จ่ายด้านการค้า ไปจนถึงการปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง เหล่าผู้บริหารต่างใช้ประโยชน์จากการบูรณาการ AI เข้ากับการดำเนินงาน โดยผลสำรวจพบว่าธุรกิจหนึ่งในสามกำลังใช้ AI เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานด้านการค้าโดยรวม ขณะที่อีกหนึ่งในสามก็กำลังใช้ AI เพื่อปรับปรุงการวางแผนทรัพยากรและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ บริษัทมากกว่าหนึ่งในสามมองว่าการส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลังถือเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดต้นทุนการค้าและห่วงโซ่อุปทานโดยรวม
มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจต่าง ๆ จะรุกใช้เทคโนโลยีมากขึ้นอีกในปีนี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเชิงรุกที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมมาใช้รับมือกับภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผลสำรวจพบว่าธุรกิจหนึ่งในสามเน้นใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูงและหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ขณะที่ 28% จะหันมาใช้บล็อกเชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับและเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และ 21% จะนำเทคโนโลยี AI การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์และคาดการณ์ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน
ห่วงโซ่อุปทานปรับเปลี่ยนตามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ในยุคโลกาภิวัตน์ใหม่ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการค้าโลก โดยธุรกิจต่าง ๆ กำลังพยายามลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ผลสำรวจพบว่าบริษัทมากกว่าหนึ่งในสามกำลังใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น เพื่อกำหนดแนวทางการค้าและการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ 32% กำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนานหรือการจัดซื้อจากซัพพลายเออร์สองรายควบคู่กันไป
นอกจากนี้ ธุรกิจมากกว่าหนึ่งในสี่กำลังลดจำนวนซัพพลายเออร์ให้เหลือน้อยลง ซึ่งเพิ่มขึ้น 16 จุดเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ มองว่าการลดซัพพลายเออร์ดีกว่าการใช้ซัพพลายเออร์หลายราย และมองว่าความสามารถในการควบคุมซัพพลายเออร์สำคัญกว่าความยืดหยุ่นของซัพพลายเออร์
ธุรกิจต่าง ๆ มีความกังวลมากขึ้นว่า ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งขั้วและแยกส่วนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะขัดขวางการเติบโต โดยธุรกิจหนึ่งในห้าแสดงความกังวลเรื่องภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นหรือความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากรในตลาดสำคัญที่เป็นแหล่งส่งออกหรือนำเข้าสินค้า นอกจากนี้ ผู้บริหาร 22% กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในตลาดที่จัดหาสินค้าให้กับบริษัท ขณะที่เกือบหนึ่งในสี่ (23%) กังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
อีโคโนมิสต์ อิมแพค ได้ทำการวิเคราะห์การค้าเชิงปริมาณด้วยแพลตฟอร์ม Global Trade Analysis Project (GTAP) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดลงของผลผลิตทั่วโลก ด้วยการจำลองสถานการณ์ “การแบ่งขั้วและแยกส่วนทางภูมิเศรษฐศาสตร์” ที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเน้นไปที่มาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าไฮเทคที่รุนแรงขึ้นมาก ซึ่งกำลังเป็นจุดสนใจทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจุบัน โดยอีโคโนมิสต์ อิมแพค คาดการณ์ว่า GDP ทั่วโลกจะลดลง 0.9% จากสถานการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างการเผยแพร่รายงาน ณ การประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สุลต่าน อาเหม็ด บิน สุลาเยม (Sultan Ahmed bin Sulayem) ประธานกรรมการและซีอีโอของดีพีเวิลด์กรุ๊ป กล่าวว่า
“ผลการค้นพบในรายงานฉบับนี้ได้เผยให้เห็นถึงมุมมองบวกอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าธุรกิจต่าง ๆ ต้องดำเนินงานในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้าได้ ด้วยการมอบความสามารถในการคาดการณ์ตามที่ธุรกิจต้องการ พร้อมกับลดความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งไม่เพียงนำมาซึ่งการลดภาษีเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และ AI ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ทัศนวิสัย และความสามารถในการปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น”
คุณจอห์น เฟอร์กูสัน (John Ferguson) หัวหน้าฝ่ายโลกาภิวัตน์ใหม่จากอีโคโนมิสต์ อิมแพค กล่าวเสริมว่า
“ในปี 2567 ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นได้ชัดว่าธุรกิจต่าง ๆ หันมาใช้แนวทางที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ไม่มีกลยุทธ์หนึ่งเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกันได้ และสิ่งที่ชัดเจนคือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและชาญฉลาดมากขึ้น”
…………………………………..
เกี่ยวกับอีโคโนมิสต์ อิมแพค
อีโคโนมิสต์ อิมแพค (Economist Impact) ผสานความครบถ้วนสมบูรณ์ขององค์กรมันสมองเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์สื่อ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารที่มีอิทธิพลทั่วโลก
เราร่วมมือกับองค์กร มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน และรัฐบาล ในภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ความยั่งยืน สุขภาพ และรูปแบบของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความก้าวหน้า
เกี่ยวกับเทรด อิน ทรานสิชัน
รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ซึ่งดีพีเวิลด์มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพค เป็นผู้จัดทำ โดยเป็นการสำรวจระดับโลกที่รวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารกว่า 3,500 คน เพื่อสำรวจความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งสำรวจผลกระทบของปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้า นอกจากนี้ รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน ยังเจาะลึกข้อมูลระดับภูมิภาค (อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก) และข้อมูลระดับภาคอุตสาหกรรม (สินค้ากลุ่ม FMCG สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและยา โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า) เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของลำดับความสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ
Social Links