จีนมุ่งสร้าง”ประชาคมซีกโลกใต้สู่อนาคตร่วมกัน”

จีนมุ่งสร้าง”ประชาคมซีกโลกใต้สู่อนาคตร่วมกัน”

จีนมุ่งสร้าง”ประชาคมซีกโลกใต้สู่อนาคตร่วมกัน”

การประชุมสุดยอด G77 บวกจีน (Group of 77 plus China Summit) ได้จัดขึ้น ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา โดยประชาชนในท้องถิ่นต่างแสดงความหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องพัฒนา ต่อสู้กับความยากจน และจัดการกับปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบเอ็ดดี เรกูเอโร (Eddy Regueiro) สถาปนิก แสดงความคิดเห็นกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) ก่อนที่การประชุมจะเปิดฉากขึ้นเมื่อวันศุกร์และวันเสาร์ที่ผ่านมา

“ฉันหวังว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่แนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแสวงหาแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถพัฒนาต่อไปได้” ซาแมนธา รอสส์ (Samantha Ross) นักศึกษาสาขาสังคมวิทยา กล่าว

ความคาดหวังที่ประชาชนแสดงออกข้างต้นนี้ มีความสอดคล้องกับปฏิญญาฮาวานาที่ผ่านการรับรองเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเน้นย้ำถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกับเรียกร้องให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กลุ่ม G77 ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศ ได้ปิดการประชุมสุดยอดที่กรุงฮาวานาเมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน พร้อมกับประกาศให้เป็นวันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South)

ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ นายหลี่ ซี (Li Xi) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และสมาชิกของคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หวังให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์ทางดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน และเน้นย้ำว่าประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือถูกกีดกันจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ในการประชุมสุดยอด G20 ครั้งที่ 17 ณ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยประเทศต่าง ๆ ควรร่วมกันส่งเสริมการเชื่อมต่อในยุคดิจิทัล และใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะดิจิทัลสำหรับทุกคน

ประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า จำเป็นต้องช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

นายเฉิน ชุนเจียง (Chen Chunjiang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล จีนได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือเส้นทางสายไหมดิจิทัลร่วมกับ 17 ประเทศ และกลไกความร่วมมือทวิภาคีเส้นทางสายไหมอีคอมเมิร์ซร่วมกับ 29 ประเทศ

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ นายอะซาลีย์ อัสซุมานีย์ (Azali Assoumani) ประธานาธิบดีแห่งสหภาพคอโมโรส และประธานสหภาพแอฟริกา ได้กล่าวยกย่องความพยายามของจีนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลกด้วยความร่วมมือทางดิจิทัล โดยระบุว่าความร่วมมือทางดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)

ส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้

นายหลี่ ซี ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังเน้นย้ำด้วยว่า ความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) มีความสำคัญสูงสุดในบรรดาความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ

“จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าการพัฒนาจะไปถึงขั้นใดก็ตาม จีนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้เสมอ” เขากล่าว

ในการเสวนากลุ่มประเทศบริกส์-แอฟริกา วงขยาย และกลุ่มประเทศบริกส์พลัส (BRICS-Africa Outreach and BRICS Plus Dialogue) ณ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศว่า จีนได้จัดตั้งกองทุนการพัฒนาระดับโลกและความร่วมมือใต้-ใต้ (Global Development and South-South Cooperation Fund) ด้วยเงินทุนรวม 4 พันล้านดอลลาร์ และในอีกไม่นานนี้ กลุ่มสถาบันการเงินของจีนจะร่วมกันจัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative หรือ GDI)

นายอับดุลกาเดอ กามิล โมฮะเหม็ด (Abdoulkader Kamil Mohamed) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐจิบูตี กล่าวว่า ความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับยกย่องข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกของจีน จากความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือหลายต่อหลายครั้งในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

“เมื่อพี่น้องร่วมแรงร่วมใจกัน ก็จะมีกำลังแข็งแกร่งจนตัดเหล็กให้ขาดได้” นายหลี่ ซี อ้างคำกล่าวจีนโบราณ พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิก G77 และจีนร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การบรรเทาความยากจน การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ปฏิรูปธรรมาภิบาลโลก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก G77 และจีน สนับสนุนระบบพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพื่อมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกันได้ แต่ในปัจจุบัน “สิ่งเหล่านี้กลับทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นและสร้างความแตกแยก” นายกูเตอร์เรสกล่าว

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ยื่นข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปและการพัฒนาธรรมาภิบาลโลก โดยสรุปจุดยืนและข้อเสนอแนะของจีนในประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลโลก

ในด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์นั้น จีนเน้นย้ำว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมและจำกัดการพัฒนาของประเทศอื่น ๆ

ข้อเสนอแนะของจีนเน้นย้ำว่า บรรดาประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับสิทธิอย่างเต็มที่ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสันติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงอันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ จีนจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยความคิดและการกระทำที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ยุติธรรม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมประโยชน์ร่วมกัน

You may also like

ยักษ์เทคทุกแห่ง โดดเข้าตลาด AI

ยักษ์เทค