นักวิชาการด้านทักษะทางการเงินจากทั่วโลก
ผนึกกำลังส่งเสริมการวิจัยและหาทางออก
ให้กับวิกฤตการเงินในครัวเรือน
…………………………………………………
เครือข่ายใหม่ระดับโลกมุ่งยกระดับการศึกษาด้านทักษะทางการเงินและการบริหารการเงินส่วนบุคคล
เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
…………………………………………………….
เนื่องจากสถาบันครอบครัวและประเทศชาติต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับความผันผวนทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรดานักวิจัยชั้นนำกว่า 50 คนจากทั่วโลกจึงมารวมตัวกันภายใต้เครือข่ายการวิจัยด้านทักษะทางการเงินและการบริหารการเงินส่วนบุคคลในชื่อ G53 Financial Literacy and Personal Finance Research Network โดยมีเป้าหมายในการเร่งดำเนินการวิจัยและหาทางออก เพื่อช่วยให้ผู้คนปลอดภัยและมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงินไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
แอนนามาเรีย ลูซาร์ดี ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายใหม่ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการด้านวิชาการของศูนย์ความเป็นเลิศด้านทักษะทางการเงินโลก (Global Financial Literacy Excellence Center: GFLEC) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของเครือข่าย G53 Network กล่าวว่า "โรคระบาดได้สร้างความเจ็บปวดจากปัญหาทางการเงิน ผู้คนจึงจำเป็นต้องสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อต้านไวรัสและต่อต้านความเปราะบางทางการเงินด้วย"
แนวคิดริเริ่มนี้ดึงดูดนักวิจัยแถวหน้าด้านทักษะทางการเงินและการบริหารการเงินส่วนบุคคลให้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมการวิจัยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ตลอดจนให้ข้อมูลแก่ผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชน
เครือข่ายนี้เรียกตัวเองว่า G53 Network เพราะ G53 เป็นรหัสทางวิชาการของสาขาวิชาทักษะทางการเงิน และประจวบเหมาะกับการที่เครือข่ายมีสมาชิกผู้ก่อตั้งรวม 53 คนจากทั่วโลก
ภาณุ คัลมิ ประธานร่วมของเครือข่าย G53 Network ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และรองคณบดีวิทยาลัยการบัญชีและการเงินแห่งมหาวิทยาลัยวาซา ประเทศฟินแลนด์ กล่าวว่า "ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงิน มาจนถึงโรคระบาด เราได้เห็นถึงความสำคัญของทักษะพื้นฐานในการรับมือเหตุการณ์ทั้งที่คาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้ ตอนนี้ผู้กำหนดนโยบายเริ่มตระหนักถึงผลพวงของความไร้ทักษะทางการเงิน แต่ก็ยังมีคำถามมากมายที่ต้องตรวจสอบเพื่อจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประโยชน์ของการให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส"
เนื่องจากสตรีและชุมชนชายขอบได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษจากโควิด-19 และปัญหาอื่น ๆ ในยุคนี้ การขยายความครอบคลุมในการให้ความรู้ทางการเงินจึงไม่เพียงแต่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับโลกด้วย
"การศึกษาด้านทักษะทางการเงินเติบโตขึ้นเป็นทวีคูณ และได้รับการยอมรับมากขึ้นว่ามีความสำคัญตลอดทศวรรษที่ผ่านมา" คุณลูซาร์ดี ระบุ "การวิจัยที่เข้มข้นจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกในด้านทักษะทางการเงินและการบริหารการเงินส่วนบุคคล เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การทำงานของภาคเอกชน และช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การวิจัยนี้มีผลกระทบในวงกว้าง"
นอกจากนี้ เครือข่าย G53 Network ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นต่อไป ด้วยการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมนักวิชาการรุ่นใหม่และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
สมาชิกของเครือข่ายระดับโลก ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ประกอบด้วยนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยจากออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา ฟินแลนด์ เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยสมาชิกเหล่านี้มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน ธุรกิจ นโยบายสาธารณะ การบัญชี การตลาด และกฎหมาย ซึ่งบ่งชี้ว่าการวิจัยด้านทักษะทางการเงินและการบริหารการเงินส่วนบุคคลจะส่งผลกระทบในวงกว้าง
สามารถดูรายชื่อสมาชิกและข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายได้ที่ www.g53network.org รวมถึงทวิตเตอร์และลิงค์อิน ทั้งนี้ เครือข่าย G53 Network ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านทักษะทางการเงินโลก (GFLEC) แห่งวิทยาลัยธุรกิจมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และสถาบันเศรษฐศาสตร์การเงินซิมคีบุนแห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Sim Kee Boon Institute for Financial Economics at the Singapore Management University
Social Links