บาทฟื้นตัวกลับมาแข็ง หุ้นปิดบวกเล็กๆ จับตาตัวเลขส่งออกและรายงานเศรษฐกิจเดือน ตค.

บาทฟื้นตัวกลับมาแข็ง หุ้นปิดบวกเล็กๆ จับตาตัวเลขส่งออกและรายงานเศรษฐกิจเดือน ตค.

บาทฟื้นตัวกลับมาแข็ง หุ้นปิดบวกเล็กๆ

จับตาตัวเลขส่งออกและรายงานเศรษฐกิจเดือน ตค.

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่ากลับมาตามการฟื้นตัวของราคาทองคำในตลาดโลก

เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2567 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายทำกำไรและปรับโพสิชั่นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้

เงินบาทลดช่วงบวกบางส่วนลงในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากตลาดเปลี่ยนจุดสนใจกลับมารอประเมินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค. อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 907 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,330 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 91 ล้านบาท หักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 1,421 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนต.ค. ของไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนีราคา PCE/Core PCE ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 (ครั้งที่ 2) ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 6-7 พ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ตลาดหุ้นไทยพลิกกลับมาปิดบวกได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ แม้จะร่วงลงแรงระหว่างสัปดาห์

ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ขานรับปัจจัยบวก ทั้งรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของไทยที่ขยายตัว 3.0% YoY ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาด และรายงานข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งหนุนแรงซื้อหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย กลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และแบงก์

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมา โดยเผชิญแรงขายหลักๆ จากหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 แม้จะมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปอื่นๆ เข้ามาประคองตลาดก็ตาม ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลต่อประเด็นการเมืองในประเทศลงในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,446.30 จุด เพิ่มขึ้น 0.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,316.10 ล้านบาทลดลง 12.71% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.30% มาปิดที่ระดับ 322.57 จุด

สัปดาห์นี้(25-29 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั