บาทอ่อน-หุ้นไทยปรับตัวลง – จับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์โควิด
…………………………………………
• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่งที่ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงอ่อนค่ากลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
• หุ้นไทยผันผวน โดยเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก ประเด็นเงินเฟ้อไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด
…………………………………………….
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่งที่ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงแรกเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์จากรายงานการประชุมเฟด (14-15 มิ.ย.) ที่ยังคงสะท้อนว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับลดงบดุลต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามจังหวะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายทำกำไร หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่น้อยลงในรอบการประชุมที่เหลือของปี หลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps. แล้วในเดือนก.ค. อนึ่ง ธปท. กล่าวถึงการอ่อนค่าของเงินบาทว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก โดยธปท. จะยังคงปล่อยให้เงินบาทปรับตัวไปตามกลไกตลาด แต่อาจมีการเข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวนหากพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,344 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าสู่ตลาดพันธบัตร 793 ล้านบาท (โดยแม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 1,903 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,110 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้ (11-15 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 2/2565 ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนและตัวเลขการส่งออก เดือนมิ.ย. ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยยังคงเคลื่อนไหวผันผวน ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงช่วยคลายความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อลงบางส่วน สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์เผชิญเทแรงขาย ขณะที่นักลงทุนรอติดตามรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่จะทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์หน้า
ในวันศุกร์ (8 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,557.87 จุด ลดลง 0.94% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,010.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.62% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.21% มาปิดที่ 572.34 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้(11-15 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,595 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/65 ของบจ. ไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ประเด็นรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสถานการณ์โควิด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2565 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ตัวเลขนำเข้า/ส่งออก
Social Links