บาทอ่อนค่าตามหยวนและเยน-หุ้นไทยปรับตัวขึ้น
จับตาตัวเลขส่งออกเดือนกันยายน
………………………………………….
• เงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค นำโดย เงินเยนและเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
• SET Index ปรับขึ้น โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และแรงซื้อหุ้นบางกลุ่มในช่วงฤดูการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/65
…………………………………………..
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินเยน และเงินหยวน โดยในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินเยนทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปีเหนือแนว 150 เยนต่อดอลลาร์ฯ ส่วนเงินหยวนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 14 ปี แม้มีแรงหนุนช่วงสั้นจากการที่ตลาดมีความหวังว่าทางการจีนอาจพิจารณาลดจำนวนวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าจีนก็ตาม นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี) ขณะที่ตลาดทยอยเพิ่มน้ำหนักให้กับโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75 bps. เป็นครั้งที่ 5 ในการประชุม FOMC เดือนธ.ค. ต่อเนื่องจากที่น่าจะปรับขึ้น 75 bps. ในการประชุมเดือนพ.ย. นี้
ในวันศุกร์ที่ 21 ต.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 38.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 38.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (12 ต.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,006 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflow ออกจากตลาดพันธบัตร 16,315 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 16,170 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 145 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้ (24-28 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.80-38.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกไทยเดือนก.ย. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค ผลการประชุม ECB และ BOJ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล รวมถึง PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ย. จีดีพีไตรมาส 3/65 (advanced report) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI เดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/65 และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีนเดือนก.ย. ที่ถูกเลื่อนการประกาศจากกำหนดการเดิมด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน หลังเผชิญแรงกดดันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยมีแรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในช่วงปลายปีประกอบกับมีแรงซื้อหุ้นบางกลุ่ม โดยเฉพาะแบงก์ พลังงาน และวัสดุก่อสร้าง ก่อนการประกาศงบไตรมาส 3/65 อย่างไรก็ดีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในเวลาต่อมาก่อนจะลดช่วงบวกลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในวันศุกร์ (21 ต.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,591.32 จุด เพิ่มขึ้น 1.96% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 59,282.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.21% มาปิดที่ระดับ 645.27 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้(24-28 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,610 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ย. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB และ BOJ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
Social Links