บาทอ่อนสุดในรอบเฉียด 6 เดือน หุ้นไทยลงต่อ
ติดตามประชุม กนง.
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค และแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดมุ่งความสนใจไปที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของไทยในวันที่ 10 เม.ย. นี้ ด้านเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่น่าจะรีบส่งสัญญาณเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้ๆ นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน) ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และอาจมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 มี.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,846 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,550 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 9,363 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 187 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้(8-12 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. และสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยไทย (10 เม.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ECB และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ยังคงย่อตัวลงต่อจากสัปดาห์ก่อน
โดยภาพรวมหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบแต่อิงไปทางขาลง โดยนอกจากจะไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนแล้ว ยังมีแรงกดดันจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ของธนาคารโลก รวมถึงแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างดี ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวกระตุ้นแรงขายหุ้นในหลายกลุ่ม นำโดยกลุ่มแบงก์ เทคโนโลยีและไฟแนนซ์
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ (แม้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะปรับตัวลง) โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์ วัสดุก่อสร้างและพลังงานเข้ามาหนุน อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวมตลาด รับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,375.58 จุด ลดลง 0.17% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 33,040.65 ล้านบาท ลดลง 5.15% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.12% มาปิดที่ระดับ 394.75 จุด
สัปดาห์นี้(8-12 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,385 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (10 เม.ย.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการส่งออก
Social Links