ผลงาน 100 วัน”โจ ไบเดน” ศก.สหรัฐฯฟื้นตัว แต่ ศก.โลกยังไม่แน่นอน ลุ้นส่งออกไทยส่อสดใส

ผลงาน 100 วัน”โจ ไบเดน” ศก.สหรัฐฯฟื้นตัว แต่ ศก.โลกยังไม่แน่นอน ลุ้นส่งออกไทยส่อสดใส

ผลงาน 100 วัน"โจ ไบเดน"

ศก.สหรัฐฯฟื้นตัว แต่ ศก.โลกยังไม่แน่นอน

ลุ้นส่งออกไทยส่อสดใส

                การแถลงผลงาน 100 วันแรก ของโจ ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ต่อสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 มีประเด็นหลักๆ ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ คือ การแก้ปัญหาโควิด-19 เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมา มาตรการด้านการคลังด้วยเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการระหว่างประเทศโดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในระยะต่อไป ล้วนมีประเด็นที่ต้องติดตาม

                มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศบรรลุเป้าหมาย 100 วันแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มปลดล็อค จากผลสัมฤทธิ์ของมาตรการเข้มข้นเพื่อสะกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกัน โดยได้บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันแรก ไปตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. 2564 ก่อนเป้าหมาย 40 วัน และปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 พ.ค. 2564) มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 250 ล้านโดส ซึ่งมีประชากรได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมากกว่า 30% ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการเป็นปกติได้มากขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคและผลประกอบการของภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้นอย่างมาก โดยในไตรมาส 1/2564 GDP สหรัฐฯ ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าถึง 6.4% (QoQ annualized) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หากไม่นับรวมไตรมาส 3/2563 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของ GDP ขยายตัวถึง 10.7% (QoQ annualized) ในไตรมาส 1/2564 สอดคล้องกับข้อมูลการจองร้านอาหารและเที่ยวบินภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างมาก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐเติบโตถึง 6.3% (QoQ annualized) จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

                ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 6.4% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ประเด็นการควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรสหรัฐฯ หลังจากนี้ คงจะไม่รวดเร็วเท่ากับ 100 วันแรก เนื่องจากประชากรที่เหลือส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดคัดค้านการเข้ารับวัคซีน ดังนั้น การเข้าถึงภูมิคุ้มกันหมู่ของสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้เร็วตามที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นหากเกิดการแพร่ระบาดของการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ไวรัสที่วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้

            การอัดฉีดมาตรการการคลังขนาดใหญ่สร้างความกังวลเกี่ยวกับความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ: หลังจาก           ที่ออกมาตรการช่วยเหลือชาวอเมริกัน (The American Rescue Plan) วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมี.ค. 2564 ที่เน้นหนักไปที่การให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและผู้ว่างงาน รวมถึงกองทุนเพื่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่รอบใหม่รวมวงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อสภาคองเกรส โดยเน้นประชาชนกลุ่มเปราะบางและชนชั้นกลางที่จะเป็นกำลังสำคัญหลังจากนี้ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ประกอบด้วย    

                1.มาตรการจ้างงานชาวอเมริกัน (The American Jobs Plan) วงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ดูดซับกำลังแรงงาน สร้างรายได้กลับคืนมา

                และ 2. มาตรการเพื่อครอบครัวสหรัฐฯ (The American Families Plan) วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในการให้เงินช่วยเหลือและการลดภาษีเพื่อลดภาระให้แก่ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นการลด/อุดหนุนค่าใช้จ่ายในสถานรับดูแลเด็กต่ำกว่า 5 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มาจากชนชั้นกลาง ซึ่งมาตรการดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส

                อย่างไรก็ตาม หากรวมมาตรการทั้งสองแพคเกจภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดนจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึงราว 6 ล้านล้านดอลาร์ฯ กระจายตัวสู่ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แม้ว่าการมาตรการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการปรับเพิ่มภาษีในกลุ่มประชากรรายได้สูง แต่ก็ยังสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงจากการอัดฉีดมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการ QE ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานต่ำลงกว่าคาดการณ์ของเฟดอย่างมีนัยสำคัญ และเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นเกินกว่าเป้าหมายของเฟด ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดคาดการปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ลดการผ่อนคลายลงเร็วกว่าที่เฟดประเมินไว้

                การอัดฉีดมาตรการทางการคลังอาจนำมาซึ่งการปรับเพิ่มภาษีในกลุ่มประชากรรายได้สูง เพื่อลดการขาดดุลทางการคลัง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะผ่านสภาคองเกรสหรือไม่: ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เสนอปรับขึ้นภาษีในกลุ่มประชากรรายได้สูง อาทิ ขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดจาก 37% เป็น 39.6% ขึ้นอัตราภาษีกำไรจากการลงทุนจาก 20% เป็น 39.6% สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ฯ ขึ้นไป รวมถึงขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 25-28% หลังจากที่มีการปรับลดในช่วงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 สหรัฐฯ ขาดดุลทางการคลังไปแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการออกมาตรการแจกเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ The American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ จะยิ่งส่งผลให้การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลัง และอาจส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวในระยะข้างหน้านั้นมีลดลง ขณะที่ การปรับขึ้นภาษีข้างต้นจะช่วยลดการขาดดุลทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศ ตามยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นภาษี อาจเผชิญความท้าทายในการได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรส เนื่องจากสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ รวมถึงสมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายประธานาธิบดี โจ ไบเดนอาจจำเป็นต้องยินยอมปรับลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราการขึ้นภาษี

                มาตรการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีสหรัฐฯ ต่อจีนจากนี้ก็เข้าสู่วิถี New Normal ในแบบฉบับของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยประกาศการแข่งขันกับจีนเพื่อที่จะคว้าชัยชนะมาให้ได้ในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งเดินหน้าในสิ่งที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์เคยเริ่มไว้ ซึ่งจากนี้ไป คาดว่าสหรัฐฯ จะไม่ยกระดับสงครามการค้าอันเป็นปลายเหตุของเรื่องราว แต่จะเน้นที่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับจีนที่เป็นกลไลขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัลเป็นหลัก รวมทั้งการสร้างฐานพันธมิตรกับต่างชาติให้มาเป็นตัวช่วยต่อกรกับจีนในระยะข้างหน้า อาทิ ยังคงควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนเพื่อตัดตอนการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมในประเทศให้แข็งแกร่ง และผนึกพันธมิตรที่เป็นแกนนำด้านเทคโนโลยีทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพื่อยกระดับห่วงโซ่ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างหุ่นยนต์ AI และเครือข่ายการสื่อสารระบบ 5G  ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะสร้างบรรยากาศตึงเครียดทั้งการการค้าและการลงทุนของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างไทยจะต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างขั้วมหาอำนาจทั้งสอง

                 กล่าวโดยสรุป จากแถลงการณ์การแถลงผลงาน 100 วันแรก ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีนัยต่อเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ผลกระทบต่อไทย มีประเด็นดังนี้

                ผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่รอบใหม่ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจจำเป็นต้องทยอยถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า ดังนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2564 ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 ที่ 1.74% นอกจากนี้ หากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่สามารถผลักดันมาตรการขึ้นภาษีได้ จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ยิ่งพุ่งสูงขึ้น และก่อให้เกิดความกังวลในประเด็นความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นั้นปรับสูงขึ้น ซึ่งการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2562 ที่ 2.05% ในไตรมาส 1/2564 และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 1.90% ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวดี

                ผลกระทบต่อการส่งออก มาตรการต่างๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดนในระยะ 100 วันแรก และสัญญาณบวกจากมาตรการหลังจากนี้ล้วนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้น่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังไทยโดยเฉพาะด้านการส่งออกที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2564 การส่งออกของไทยมีโอกาสกลับมาเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ 7.8% ในปี 2564 มีมูลค่าส่งออก 35,909 ล้านดอลลาร์ฯ

 

 

 

You may also like

สคบ.เดินหน้า เหตุร้องเรียนห้องพักอาศัย อาคาร Chareeya Residence ย่านรังสิต

สคบ.เดิน