ผ่าพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล คนไทยได้อะไรในยุค 4.0
การเปลี่ยนผ่านภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล (Transform Government to The Digital Age) นั้นไม่ใช่แค่ Change แต่เป็นการ Transform ที่จะเปิดมิติใหม่ราชการ4.0 เพื่อตอบโจทย์ Digital lifestyle ของคนไทยในอนาคตได้อย่างสะดวกและยั่งยืน
จากการที่รัฐบาลไฟเขียว พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA นำเสนอโดยกำหนดให้ดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี เพื่อให้เกิดความรับรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจาก พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล DGA จึงนำ 4 ขุนพลเปิดเวทีสัมมนา “เจาะลึกพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล คนไทยได้อะไรในยุค 4.0” ณ โรงแรมสยาม แอท สยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยว่า DGA มุ่งมั่นเดินหน้าภารกิจใหม่องค์กรอย่างเต็มรูปแบบเพื่อผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดผลรูปธรรม สามารถขับเคลื่อนบทบาทรัฐบาลในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด ภายใต้หลักการการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ระบบการยืนยันตัวตน (ID) ข้อมูล (Data) และการใช้จ่ายเงิน (Payment)ที่มั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ บุคลากรภาครัฐมีทัศนคติ (Mindset) ที่เปิดกว้าง รับฟัง (Openness) มองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centric) สร้าง Digital Servicesที่ตรงความต้องการ ง่ายต่อการใช้งาน และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการมี Digital Mindset ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม การปรับตัวและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อ Disruptive Technology การสร้างให้เกิด Ecosystem และมี Partner ที่เข้มแข็ง การยกระดับทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้ามหน่วยงาน ส่งมอบบริการที่สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และความโปร่งใส
“การ Transform คือวิธีเดิมไม่ทำแล้ว ให้ทำวิธีใหม่ ดังที่ภาครัฐประกาศลดสำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ คือเจตนารมณ์ที่ให้ประชาชนสัมผัสได้ว่ารัฐกำลังก้าวสู่ดิจิทัลแล้ว ซึ่งบทบาทใหม่ในยุคดิจิทัลของภาครัฐ ไม่ได้มองแต่เรื่องของคนกำกับดูแลเท่านั้น แต่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในเรื่องการสร้างนวัตกรรม ที่เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ทำให้ได้ข้อมูล Big Data อัตโนมัติก่อให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลไปสู่การเป็น AI (Artificial intelligence) ในที่สุด แล้วภาคเอกชน ภาคประชาชนสามารถนำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ไปต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ถ้าไม่เตรียมการแบบนี้ประเทศเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เพราะสุดท้ายโลกเราก็ก้าวไปสู่ AI 100% ในไม่ช้า
จาก Digital Government ในอนาคตเมื่อมีความพร้อมเราก็จะสามารถก้าวไปสู่Smart Government คือ การทำงานของภาครัฐที่สมาร์ตขึ้น ไม่ได้มองแต่เรื่องการให้บริการเท่านั้น การทำงานภายใน การวางแผน การแก้ปัญหาของประชาชนโดยใช้ข้อมูล การสนับสนุน Facilitator ให้การศึกษากับประชาชน ตัวอย่างเช่น เมื่อสรรพากรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น เจ้าหน้าที่สรรพากรก็ไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสาร ต่อไปจะสามารถเป็น Financial Advisor ให้ประชาชนได้เลย เหล่านี้คือ บทบาทใหม่ของภาครัฐ งานที่เป็น routine จะค่อยๆ หายไป จากนั้นคนภาครัฐก็จะยกระดับการทำงานให้มี Value มากขึ้น เกิดบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ รัฐบาลดิจิทัลจะนำไปสู่ paperless และ cashless ในที่สุด ดังนั้นเมื่อสามารถยกระดับภาครัฐสู่ Smart Government ได้ สุดท้ายคนที่ได้ก็คือประชาชน”
คุณอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึงเป้าหมายของร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล พ.ศ…. ว่า พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา258ข. (1) และ (2) ที่มุ่งให้เกิดการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสำหรับประชาชน โดยหน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามภารกิจรวมถึงรองรับการบริหารงานภาครัฐ และลดภาระทางด้านเวลา ค่าใช้จ่าย การจัดเตรียมเอกสารที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ โดยให้หน่วยงานรัฐแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลหรือเอกสารระหว่างกัน มีการปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัย และมีการเปิดเผยข้อมูลราชการเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ไม่มีผลต่อความมั่นคง และความเป็นส่วนบุคคล รวมถึงให้มีการยกระดับทักษะความรู้ของบุคลากรภาครัฐ
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของพ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล มี 3 หลักการคือ 1. จัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล ช่วยเพิ่มช่องทางชำระเงินทางดิจิทัลสำหรับบริการของภาครัฐ (Digitization) 2. การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐ โดยศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติและระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลระหว่างหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน (Integration) 3. การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นและนำมาใช้ประโยชน์ได้ฟรี (Open Government Data)
“กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ มี 6 หมวด 1 หมวดเฉพาะกาล รวม 40 มาตรา ซึ่งในหมวดที่ 1 สาระสำคัญคือ แนวทางการเป็นรัฐบาลดิจิทัลและบทบาทของภาครัฐเช่นการปรับปรุงนโยบายหลักเกณฑ์ และจะต้องทบทวนแผนงานปีละครั้ง มีการปรับปรุงกระบวนงานต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ สำหรับหมวดที่ 2 สาระสำคัญคือ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงระบบไปในทิศทางเดียวกัน สาระสำคัญหมวดที่ 3 คือ จะต้องปรับปรุงข้อมูลและบริการดิจิทัล โดยไม่ให้มีการซ้ำซ้อนกัน และต้องมีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อความมั่นคง ปลอดภัย สาระสำคัญหมวดที่ 4 คือ การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ โดยให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ และจะต้องมีจุดให้บริการที่เป็น One Stop Service ด้วย สาระสำคัญหมวดที่ 5 คือ เปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสากลสามารถนำไปใช้งานต่อได้ และ สาระสำคัญหมวดที่ 6 คือ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลมาขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยให้สพร. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่อำนวยการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี”
คุณไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึง บริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวหรือ One Stop Service Portal (OSS) ว่า “การเป็นรัฐบาลดิจิทัลส่วนสำคัญต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล เริ่มจากการพยายามไม่ใช้กระดาษก่อน เพื่อให้การติดต่อภาครัฐง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีช่องทางและบริการภาครัฐจากจุดเดียว อย่างเช่น มีเว็บไซต์เดียวหรือแอปพลิชันเดียวไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อราชการหรือสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนที่ควรจะได้รับจากหน่วยงานราชการตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนควรจะรู้ข้อมูลว่ามีอะไรบ้าง ควรรู้ว่ามีกติกาอะไรบ้าง เป็นต้น นี่คือสิ่งที่น่าจะเป็นความคาดหวังของประชาชน ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะเป็น บริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือOne Stop Service (OSS) แบ่งออกเป็นการบริการภาคประชาชน (Citizen Portal) และ ภาคเอกชน (Business Portal)
การดำเนินงานสำหรับภาคประชาชน (Citizen Portal) ได้พัฒนา OSS ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาระบบ Citizen Portal ในส่วนของ Information เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐแล้ว และต่อไปประชาชนสามารถประเมินความพึงพอใจหลังใช้บริการภาครัฐได้ผ่าน Mobile Application ภายใต้ชื่อ CITIZENinfo ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดให้เป็นเสมือน Google ภาครัฐที่ให้บริการข้อมูลอื่นๆ เพื่อการติดต่อกับภาครัฐได้ในแอปเดียว ติดตามสถานะบริการ จองคิวออนไลน์ ติดต่อทำธุรกรรมของหน่วยงานต่างๆ ออนไลน์ แสดงความคิดเห็นร้องเรียน ปักหมุดจุดให้บริการ สถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่อื่นๆ เป็นข้อมูลเปิด เป็นต้น
ด้านจุดเริ่มต้นในการพัฒนา OSS ด้านภาคเอกชน (Business Portal) ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงบริการภาครัฐแล้ว 21 บริการ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น โดยเปิดบริการแล้วที่เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th
นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล สำหรับตรวจสอบสถานะการยกเลิกการขอสำเนาผ่านแอปพลิเคชัน CitizenInfo ได้ซึ่งจะมีการเปิดตัวในต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ประชาชนสามารถแจ้งความพึงพอใจได้ และขณะนี้ มีหลายหน่วยงานที่ไม่ร้องขอสำเนาเอกสารติดต่อราชการแล้ว โดยกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต้องมีการเชื่อมโยงกันด้วย ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange หรือ GDX) ของสพร. ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิด Digital Government ในที่สุด”
ด้าน คุณวิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อำนวยการ DGA ได้กล่าวถึงรายละเอียด กรอบการกำกับดูแลข้อมูล Data Governance framework ว่า “การที่ภาครัฐรณรงค์ให้เปิดเผยข้อมูลนั้น ต้องมีการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีการจัดเก็บในหลากหลายรูปแบบ ข้อมูลเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการทำงานของภาครัฐ เมื่อการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานเป็นเรื่องยาก เราจึงต้องยกร่างกรอบการกำกับดูแลข้อมูล Data Governance framework เพื่อเป็นแนวทางกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อให้การได้มาและการนำข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐไปใช้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน รักษาความเป็นส่วนบุคคลและสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย โดยใช้ข้อมูลเป็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์การตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน การเสริมสร้างและผลักดันธุรกิจที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมข้อมูล เป็นต้น
โดยมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การเปิดเผยข้อมูลและการขอใช้ข้อมูล โดยมีการวัดผลด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของข้อมูล และแนวปฏิบัติต่างๆ
“เรื่องกรอบการกำกับดูแลข้อมูลสิ่งแรกที่เราให้ความสำคัญจะเริ่มต้นตั้งแต่วัตถุดิบ คือ ข้อมูล ว่าทำอย่างไรจะให้ทุกส่วนราชการสามารถจะจำแนกประเภทของข้อมูลได้ แต่ละประเภทของข้อมูลสามารถจะกำหนดนโยบาย คำนิยาม นำไปสู่การออกมาตรฐานต่างๆ ไปสู่แนวปฏิบัติที่จำเป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น แนวนโยบายปฏิบัติเรื่องการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data และศูนย์ GDX ซึ่งเราต้องมีกลไกให้ส่วนราชการรู้ว่า ถ้าต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะมีขั้นตอน กติกา แนวปฏิบัติอย่างไร นอกเหนือจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาเช่น โลก Cyber Attack เป็นกลไกที่สำคัญ global indicator impact อีกหลายตัว เพราะฉะนั้นทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ ทั้งการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้ทุกส่วนราชการสามารถที่จะบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานของตนเองได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งกรอบนี้เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ได้รับความสนใจจากภาครัฐและเอกชน ดาวน์โหลดไปกว่า 50,000 ครั้ง มีการร้องขอให้เข้าไปฝึกอบรมเพื่อช่วยให้หน่วยงานมีนโยบายและการปฏิบัติในการใช้และการบริหารจัดการข้อมูล นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างส่วนงานราชการได้ แสดงถึงความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
Social Links