เงินบาทยังอ่อน-หุ้นไทยพุ่งเฉียด 1,600 จุด ลุ้นโควิด/ศก.โลก/มาตรการกระตุ้น ศก.ไทย

เงินบาทยังอ่อน-หุ้นไทยพุ่งเฉียด 1,600 จุด ลุ้นโควิด/ศก.โลก/มาตรการกระตุ้น ศก.ไทย

เงินบาทยังอ่อน-หุ้นไทยพุ่งเฉียด 1,600 จุด

ลุ้นโควิด/ศก.โลก/มาตรการกระตุ้น ศก.ไทย

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับข่าวการผิดนัดชำระการเพิ่มเงินประกันของเฮดจ์ฟันด์รายหนึ่งในสหรัฐฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของปธน. โจ ไบเดน ขณะที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากผลของการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในช่วงก่อนสิ้นไตรมาส 1/64 ด้วยเช่นกัน

                ในวันศุกร์ (2 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.30 เทียบกับระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 มี.ค.)              

                สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16-17 มี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

                หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,596.27 จุด เพิ่มขึ้น 1.36% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,882.75 ล้านบาท ลดลง 4.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.90% มาปิดที่ 472.02 จุด

                หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติท่ามกลางแรงหนุนจากการทำ Window Dressing ก่อนปิดงบไตรมาส 1/64 ก่อนจะพักฐานช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยหุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศขานรับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มการเงิน วัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยี ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นและผลการประชุมโอเปกพลัสที่จะเพิ่มกำลังการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป              

                สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,605 และ 1,620 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ของยูโรโซน จีนและญี่ปุ่น  

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั