เดินหน้า!ฟื้นฟูต้นน้ำยมปีที่ 3

เดินหน้า!ฟื้นฟูต้นน้ำยมปีที่ 3

 เดินหน้า!ฟื้นฟูต้นน้ำยมปีที่ 3 

            กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผนึกกำลังจากหลายภาคส่วน และชมรมคอลัมน์นีสต์ฯจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำยม ปลูกป่าประชารัฐ-จัดทำฝายน้ำล้น ปีที่ 3 หวังพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและรวมพลังภาคประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าพึ่งพาอาศัยกัน

                (20 มิ.ย.61) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำยม เฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 3 ร่วมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรมชลประทาน ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย เครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ พัฒนาชาติ กลุ่มบริษัทเอกชน นักร้อง นักแสดง เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร H.A.Slade กรมอุทยานแห่งชาติฯ

                นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานหลายภาคส่วน ได้เข้ามาร่วมในโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำยม ปลูกป่าประชารัฐ – จัดทำฝายน้ำล้นปีที่ 3 ซึ่งโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักคือการฟื้นฟูและพัฒนาต้นน้ำยม ที่ได้ร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่อ.ปง จังหวัดพะเยา ร่วมกันปลูกป่า สร้างฝายน้ำล้น การบวชป่า ปล่อยสัตว์น้ำ จนพบว่าป่าต้นน้ำในพื้นที่ได้ฟื้นคืนสภาพเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านต้นฝาง หมู่ 5 ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าประชารัฐ ฟื้นฟูต้นน้ำยมปีที่ 2 (พ.ศ.2560)

                ขณะที่พื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่านั้น อยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ ครอบคลุมท้องที่อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอปง จังหวัดพะเยา เนื้อที่ประมาณ 231,875 ไร่ หรือประมาณ 371 ตารางกิโลเมตร มีสัตว์ป่าที่สำคัญอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น นกยูง เลียงผา เก้ง กวาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับเนินเขา เป็นลูกระนาดตลอดพื้นที่ ปกคลุมด้วยไม้ประเภทต่างๆ เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังหรือป่าดิบชื้น  ขณะที่ลุ่มน้ำยมมีพื้นที่รวม ๒๔,๐๔๖.๘๙ ตารางกิโลเมตรมีอาณาเขตติดต่อกับลุ่มน้ำหลักอื่นๆ อีก ๔ ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน ครอบคลุมพื้นที่ ๑๑ จังหวัด ได้แก่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร และนครสวรรค์

                ด้านนายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับกิจกรรมปลูกป่าที่ต้นน้ำยมปีที่ 3 ว่า กฟผ.ได้ร่วมโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำยมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจะจัดในวันที่ 21 – 22 กรกฎาคม ปีนี้ ที่อำเภอปง จังหวัดพะเยาต่อไป “ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินโครงการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี 2537 เป็นเวลานานกว่า 24 ปีแล้ว คิดเป็นพื้นที่ปลูกมากกว่า 466,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าถึง 49 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ”

                “ต้นไม้ที่ปลูกมีโอกาสรอดตายสูง ด้วยแผนการปลูกตามความเหมาะสมของฤดูกาลและถูกต้องตามแนวคิด “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า” พร้อมทั้งบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าจะฟื้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เติบโตและขยายพันธุ์อย่างยั่งยืนไปได้ รวมทั้งยังถ่ายทอดเทคนิคการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จากการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของตน และบำรุงดูแลเป็นป่าชุมชนสืบไป”ผู้ช่วยผู้ว่าฯ กฟผ.   กล่าว

                ด้านนายณรงค์  ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ชมรมฯได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำยมผ่านมา 2 ปีแล้ว ถือว่าเป็นการทดสอบความอุตสาหะของชมรมฯที่อยู่กลางเมืองหลวง แต่ก็ดั้นด้นหาทางยกคณะไปสร้างกิจกรรมปลูกป่าถึงต้นน้ำยมที่ห่างไกลถึง 700 กิโลเมตรได้

                “ทั้งนี้ ก็ต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ตั้งแต่กองทัพภาคที่ 3, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5,

ปตท., ธนาคารอาคารสงเคราะห์, กฟผ. กฟภ. หน่วยราชการจังหวัดพะเยา, อำเภอปง, อบจ.พะเยา, เทศบาลและ

อบต.หลายแห่งในอำเภอปง รวมทั้งแกนนำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอธิบดีธัญญา เนติธรรมกุล ที่ได้ให้เกียรติให้ความไว้วางใจชมรมฯทำกิจกรรมที่ไม่ง่ายเลยนี้ได้ จากที่ไม่เคยมีใครสนใจต้นน้ำแห่งนี้มากนัก แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนสนใจไต่ถามถึง” นายณรงค์กล่าว

                สิ่งที่ต้องขอบคุณอย่างมากอีกส่วนสำคัญคือ ภาคเอกชน ทั้ง เอไอเอส ข้าวตราฉัตร รถยนต์นิสสัน บริษัทเพาเวอร์เมติค จำกัด (ปีที่แล้ว แอร์เอเชีย ก็ยังบินลงมาเป็นแรงใจสนับสนุนด้วย ) สินค้าตรามิชิโน เครื่องดื่มเอส บริษัทวิริยะประกันภัย เครือข่ายจิตอาสา ประชารัฐร่วมใจ พัฒนาไทยยั่งยืน และเครื่องดื่มคาราบาวแดง ก็ส่งเครื่องดื่มไปช่วยเพิ่มพลังให้ นายณรงค์ เผยเพิ่มเติมว่า ปีนี้มีเครือข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมจานส้ม กลุ่มเคเบิ้ลทีวี ซีแซ็ท และทีวีดาวเทียม โกบาทีวี จากจีน ก็ไปช่วยกันฟื้นฟูด้วย

                นอกจากทำกิจกรรมปลูกป่าต้นน้ำยมมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ประธานชมรมฯได้เผยต่ออีกว่า กิจกรรมต่อเนื่อง      ก็เริ่มแตกไลน์ขยายวงไปด้านอื่นๆด้วย เช่น สร้างฝายน้ำล้น การหาเวชภัณฑ์ไปสำรองใช้ในโรงพยาบาลตำบล การหาทุนช่วยนักเรียนยากจนและผู้พิการด้อยโอกาส การขอสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้วไปให้นักเรียนฝึกฝนตามโรงเรียนต่างๆก็ตามมา กระทั่งถึงการเสนอหาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กที่ต้นน้ำยมไว้ใช้ในหน้าแล้ง รวมทั้งการจัดแกนนำชาวบ้านไปอบรมและดูงานการผลิตสินค้าเกษตรของชาวเขาในจังหวัดใกล้เคียงที่มีความพร้อมกว่า เพื่อปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดด้วยวิถีพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้นน้ำยม เริ่มมีความตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หวงแหนป่า และเกิดวัฒนธรรมใหม่ให้ “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคนอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

 

 

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์