เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ?
คำพูดหนึ่งที่ฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้โต้แย้งฝ่ายสนับสนุนอยู่ตลอดเวลาก็คือ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่มีอยู่จริง เพราะทำยังไงก็ไม่สะอาดเพียงแต่ช่วยให้ปล่อยมลพิษน้อยลงเท่านั้น และเรียกร้องให้ฝ่ายสนับสนุนเลิกใช้คำว่าถ่านหินสะอาดหรือเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพราะไม่มีอยู่จริง
จริงๆ แล้วคำว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดคงไม่เกิดขึ้น ถ้าฝ่ายคัดค้านไม่เริ่มต้นการรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยการโฆษณาว่า “ถ่านหินสกปรก” เมื่อฝ่ายคัดค้านเริ่มด้วยคำว่า “สกปรก” ฝ่ายสนับสนุนเขาก็ต้องโต้ตอบว่ามันไม่สกปรก หรือ “สะอาด” นั่นเอง ดังนั้น คำว่า “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” มันก็มีที่มาจากฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั่นเอง แล้วจะมาเรียกร้องให้เขาเลิกได้อย่างไร นอกจากฝ่ายคัดค้านจะเลิกพูดว่าถ่านหินสกปรก ฝ่ายสนับสนุนเขาก็จะเลิกใช้คำว่าสะอาดไปเอง
ถามว่าเทคโนโลยีนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าเราไม่ติดกับชื่อว่า “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” เปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นว่า “เทคโนโลยีลดมลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” หรือ “เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนี้มีอยู่จริง และปัจจุบันก็มีใช้อยู่ในโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นใหม่ทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย เป็นต้น
ความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีนี้มีอยู่จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่การเคลื่อนไหวในระดับสากลที่สอดประสานกับภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายในการคัดค้านไม่ยอมรับให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลกก็ตาม
ดังนั้น การถกเถียงกันในเรื่องเทคโนโลยีว่ามีอยู่จริงหรือไม่ การลดมลภาวะทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร จะลดผลกระทบต่อชุมชนได้อย่างไร การเยียวยาผลกระทบจะทำอย่างไร และจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของตนเองอย่างไร จึงเป็นเรื่องปลายเหตุทั้งสิ้น เพราะต้นเหตุคือการไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นภารกิจในทางสากลตั้งแต่แรกแล้ว
ถ้าไม่เชื่อผม ลองย้ายสถานที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากเทพาและกระบี่ไปที่อื่นดูสิ ก็จะมีการตามมาคัดค้านกันอีกเหมือนเดิม
ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาในเชิงการบริหารและการตัดสินใจ ซึ่งในความเห็นของผมสิ่งที่รัฐควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่าจะสร้างหรือไม่สร้างมีเพียงสองประเด็นเท่านั้นคือ ประเด็นเรื่องการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) และการยอมรับของชุมชน
ถ้าการศึกษา EIA/EHIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตัดสินใจ อย่าไปกังวลกับเสียงคัดค้านและตำหนิติเตียน เพราะไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไร ท่านก็จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติเตียนอยู่ดี
ออกมายืนอยู่กลางแจ้งแล้วอย่ากลัวฝนครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ใน นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2561
Social Links