เปิดผลสำรวจครั้งใหญ่ พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก

เปิดผลสำรวจครั้งใหญ่ พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก

เปิดผลสำรวจครั้งใหญ่

พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก

……………………………

  • ยูโกฟได้สำรวจความคิดเห็นกว่า 17,500 คนจากจุดหมายปลายทาง 15 แห่งทั่วโลก โดยพบว่าเกือบสองในสามของคนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเดินทางไปยังที่ที่เพื่อนและครอบครัวของตนเคยไปมาแล้ว ซึ่งยิ่งตอกย้ำปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวล้นในบางที่ ขณะที่จุดหมายปลายทางแห่งอื่น ๆ ยังคงรอการค้นพบ
  • นักท่องเที่ยว 66% เชื่อว่าการเดินทางไปยังที่ที่มอบความคุ้นเคยเป็นสิ่งสำคัญ และผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจที่จะเดินทางไปยังที่ที่ตนไม่ค่อยรู้จัก
  • อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ 83% เห็นด้วยว่าพวกเขากลับมาโดยมีมุมมองเปลี่ยนไปหรือกว้างขึ้น

……………………………………..

นักท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มน้อยกว่าในการคิดจะไปสำรวจจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคย โดยเลือกที่จะเดินทางไปยังที่ที่ตนเองคุ้นเคยมากกว่า จากการสำรวจที่ยูโกฟ (YouGov) ได้ดำเนินการเอาไว้ทั่วโลก และเผยแพร่วันนี้

การสำรวจของยูโกฟกับกว่า 17,500 คน จัดทำภายใต้องค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย (Saudi Tourism Authority) และเผยแพร่ก่อนงานวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day) ประจำปีนี้ ณ กรุงรียาด ดำเนินการใน 15 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา อเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง แม้ว่าผลจะแตกต่างกันระหว่างตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ การศึกษาเผยว่า 66% ของนักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มอบความรู้สึกคุ้นเคย โดย 67% มีแนวโน้มที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ตนเคยไปหรือเคยได้ยินผ่านเครือข่ายอย่างครอบครัวและเพื่อน0

เมื่อประเมินตามภูมิภาคแล้วผลที่ได้มีความแตกต่างกัน โดย 90% ของนักท่องเที่ยวจากประเทศในตะวันออกกลางเห็นว่าความคุ้นเคยกับจุดหมายปลายทางเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ (62%) ชาวฝรั่งเศส (75%) ชาวจีน (68%) และชาวญี่ปุ่น (74%) รู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะเดินทางไปยังที่ที่ตนไม่ค่อยรู้จัก

ข้อค้นพบดังกล่าวบ่งชี้ว่า จุดหมายปลายทางที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยมีงบโปรโมทระดับนานาชาติน้อยกว่า จะขาดความสามารถที่จะสร้างความคุ้นเคย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายปลายทางของการเดินทาง ในอีกแง่หนึ่ง สำหรับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่อิ่มตัวมากกว่า ความท้าทายอยู่ที่การชักจูงนักท่องเที่ยวออกจากสถานที่ยอดนิยมไปสู่ภูมิภาคภายในแห่งอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่า

ข้อค้นพบที่ปรากฏชัดเจนของการสำรวจนี้สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่า 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของโลกเพียง 10% นอกจากจะเน้นย้ำความต้องการของนักท่องเที่ยวในการเลือกไปจุดหมายปลายทางที่คุ้นเคยแล้ว ยังสะท้อนความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนกว่าเดิมทั่วโลกด้วย

คุณฟาห์ด ฮามิดาดดิน ( Fahd Hamidaddin) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและสมาชิกคณะกรรมการองค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า “ข้อค้นพบของการสำรวจระดับนานาชาตินี้มอบมุมมองเชิงลึกให้แก่เรา เกี่ยวกับกระแสแนวโน้มและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ตลอดจนความสำคัญของความรู้สึกคุ้นเคยสำหรับพวกเขาในการเลือกจุดหมายปลายทาง”

“อย่างไรก็ตาม ความคุ้นเคยมิได้หมายความว่าจุดหมายปลายทางจะต้องบั่นทอนลักษณะอันแท้จริงของสถานที่ เนื่องจากงานวิจัยยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การไปเยือนที่ใหม่ ๆ เพิ่มความตระหนักถึงคุ้นค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลายและเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน เมื่อเราเดินทาง เราเป็นตัวแทนของลักษณะอันดีงาม โดยเราส่งออกวัฒนธรรมของตัวเอง และกลับบ้านมาพร้อมกับการค้นพบใหม่ ๆ ไอเดียใหม่ ๆ และมุมมองใหม่ ๆ”

“ผมหวังว่า การเน้นย้ำว่าการเดินทางท่องเที่ยวมีพลังที่จะขยายมุมมองให้กว้างขึ้น จะช่วยให้เราสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเลือกจุดหมายปลายทางที่คุ้นเคยน้อยกว่า ผมตั้งตารอที่จะได้หารือเกี่ยวกับผลของการสำรวจดังกล่าวนี้กับผู้ร่วมวงการในรียาดสัปดาห์นี้ เพื่อสำรวจวิธีการที่เราจะร่วมกันดำเนินการต่อไป เพื่อทำให้ทั่วทุกมุมโลกดึงดูดและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”

ผลสำรวจดังกล่าวนี้สนับสนุนรายงานข่าวล่าสุดจากประเทศต่าง ๆ อย่างเช่นโครเอเชียและฝรั่งเศส ที่ได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมนักท่องเที่ยวจำนวนมากในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของประเทศ โดยเมืองดูบรอฟนิกในโครเอเชียได้ดำเนินแคมเปญ “โปรดเคารพเมืองแห่งนี้” (Respect the City) เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ขณะที่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวของฝรั่งเศส โอลิเวีย เกรอกัวร์ (Olivia Gregoire) เน้นย้ำว่า ฝรั่งเศสจำเป็นต้องจัดการกับการไหลทะลักเข้าของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยว ซึ่งทำลาย “สภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น และประสบการณ์ของผู้มาเยือน”

ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใหม่นั้น 83% รายงานว่าประสบการณ์นั้นเปลี่ยนหรือขยายมุมมองของตน ซึ่งมอบหลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบที่ลึกซึ้งของการท่องเที่ยวในการเชื่อมต่อผู้คนและเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน

การสำรวจระดับโลกนี้จัดทำภายใต้องค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย โดยดำเนินการก่อนงานวันท่องเที่ยวโลกประจำปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงรียาดระหว่างวันที่ 27 ถึง 28 กันยายน วันท่องเที่ยวโลกประจำปี 2566 นี้จะเป็นจุดรวมตัวของรัฐมนตรีการท่องเที่ยว ผู้นำในอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญในภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกภายใต้ธีม “การท่องเที่ยวและการลงทุนสีเขียว” ด้วยกิจกรรมการประชุมที่น่าสนใจ การอภิปรายหมู่ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมจะได้สำรวจบทบาทสำคัญของการท่องเที่ยวและการทำงานร่วมกันในระดับโลก ในการขับเคลื่อนความมั่งคั่ง คุ้มครองวัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมโลกที่ปรองดองและเชื่อมถึงระหว่างกันมากขึ้น

………………………

เกี่ยวกับองค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย

องค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย (Saudi Tourism Authority หรือ STA) เปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีหน้าที่โปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบีย และพัฒนาสิ่งที่สถานที่แห่งนั้นนำเสนอผ่านโปรแกรม แพ็กเกจ และการสนับสนุนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพย์สินและแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นของประเทศ จัดการประชุมและมีส่วนร่วมในงานอีเวนต์ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมแบรนด์สถานที่ท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบียทั้งในและต่างประเทศ องค์การท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียมีสำนักงานตัวแทน 16 แห่งทั่วโลก โดยดูแล 38 ประเทศด้วยกัน

เกี่ยวกับองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (World Tourism Organization หรือ UNWTO) เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นกลจักรขับเคลื่อนการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืน โดยทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่นสำหรับทุกคน นอกจากนั้นยังทำงานเพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นรากฐานของความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกอบกับเป็นเสาหลักสำคัญสำหรับการเติบโตและโอกาส ในฐานะส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ UNWTO อยู่ในแนวหน้าของความพยายามระดับโลกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ด้วยความสามารถในการสร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความเท่าเทียม ตลอดจนอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์