เศรษฐกิจและการลงทุนอินเดียโตฉิว
จุดประกายส่งออกไทยไปอินเดียปี 64 พุ่งกระฉูด 40%
…………………………………………………………………….
อินเดียไม่เพียงเป็นประเทศที่น่าสนใจด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่ในปี 2563 ที่ผ่านมายังดึงดูด FDI ไหลเข้าประเทศสูงจนกลายเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาหลังจากนี้โดยเฉพาะธุรกิจบริการเกาะกระแสดิจิทัล E-commerce และ ICT การผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนมีบทบาทในการพลิกโฉมโครงสร้างการผลิตอินเดียให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก อานิสงส์ประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางต่างๆ รวมถึงไทยที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับการผลิตอินเดีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้นการส่งออกไทยไปอินเดียปี 2564 ได้อานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลักทำให้ขยายตัวราวร้อยละ 40 YoY แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,700 ล้านดอลลาร์ฯ ในระยะกลาง-ยาว หาก FDI เข้าสู่อินเดียต่อเนื่องจนอินเดียสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีได้อย่างมีนัยสำคัญ เปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้สนับสนุนสินค้าขั้นกลางให้แก่ประเทศในเอเชียใต้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบยานยนต์
………………………………………………………………………….
เศรษฐกิจอินเดียไตรมาส 2/2564 แม้เผชิญการระบาดหนักของโควิดสายพันธุ์เดลต้า แต่สามารถกลับมาขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 20.1 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลของการฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวรุนแรงร้อยละ 24.4 ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของอินเดียทำสถิติใหม่รายเดือนแตะ 35.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกรกฎาคม 2564 อีกทั้งรายงาน World Investment Report 2021ของ UNCTAD ระบุว่าอินเดียได้ขยับขึ้นมาเป็นปลายทางการลงทุนที่มี FDI หลั่งไหลเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2563 (จากอันดับที่ 8 ในปี 2562) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการลงทุนในอินเดียที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าอินเดียกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางการผลิตของโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะช่วยหนุนเศรษฐกิจอินเดียแล้ว ยังต้องมีการนำเข้าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหลายประเทศที่ส่งออกจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวรวมถึงไทย โดยมีประเด็นสนับสนุน ดังนี้
– โครงสร้างการผลิตของอินเดียเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่มีนโยบาย Make in India ในปี 2557 ที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน ดึงดูดการลงทุนและขับเคลื่อนการผลิตในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้นจากในอดีต แต่การลงทุนที่เข้ามาก็ยังอยู่ในกลุ่มการผลิตไม่ซับซ้อน ซึ่งในปี 2558 หลังจากใช้นโยบาย มียอดการลงทุนใหม่ (Greenfield FDI) เข้าสู่อินเดียพุ่งสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ และจีนได้เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน หลังจากนั้นในปี 2560 อินเดียปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม) ครั้งสำคัญช่วยลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีของภาคธุรกิจทำให้ภาคธุรกิจมีภาระต้นทุนทางภาษีลดลง นับว่าความพยายามดังกล่าวของภาครัฐทำให้อินเดียเป็นประเทศน่าลงทุนขยับขึ้นมาติดอันดับ 63 ของโลก (ตามรายงาน Ease of Doing Business 2020) จากที่เคยรั้งอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2560
– โควิด-19 และสงครามการค้าเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่ทำให้อินเดียเริ่มมีบทบาทในเวทีการผลิตสินค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะ FDI ที่เข้าสู่อินเดียอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 1 ปี สะท้อนว่าอินเดียกลายเป็นอีกตัวเลือกที่เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ และจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นอีกในทศวรรษข้างหน้า โดยเม็ดเงินลงทุนที่ทยอยเข้าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาล้วนเป็นผลจากการที่นักลงทุนทั่วโลกมีแผนกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้า ภัยธรรมชาติและโรคระบาด โดยในปี 2563 มี FDI เข้าสู่อินเดียขยายตัวถึงร้อยละ 27 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 64.0 พันล้านดอลลาร์ฯ สวนทางกับ FDI ทั่วโลกหดตัวร้อยละ 35 จนอินเดียขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ของโลก (จากอันดับที่ 8 ในปี 2562) เป็นรองแค่สหรัฐฯ จีน ฮ่องกงและสิงคโปร์ สัญญาณดังกล่าวชี้ชัดว่าอินเดียมีแรงดึงดูดด้วยจุดเด่นที่ประเทศอื่นยากจะเลียนแบบ เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ทั้งยังเหมาะแก่การการตั้งโรงงานผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่อุดมด้วยแรงงานมากถึง 472 ล้านคน มีค่าจ้างแรงงานต่ำเพียง 2.8 ดอลลาร์ฯ ต่อวัน (ต่ำกว่าไทย จีน และเวียดนาม)
– กระแส FDI ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการผลิตของอินเดียในด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันให้เด่นยิ่งขึ้น ซึ่ง FDI กลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่อินเดียในปีที่ผ่านมาเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในกลุ่มธุรกิจ ICT ตอบโจทย์กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาแรงในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนจากผู้ประกอบการ E-commerce รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจด้านดิจิทัลในภาคส่วนต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจเกษตรและระบบดูแลลสุขภาพให้ทันสมัย ซึ่งการผลิตสินค้าเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางการลงทุนในระยะต่อไป ต่อยอดจากการผลิตเดิมที่อินเดียมีศักยภาพโดดเด่นในด้านการเป็นผู้ผลิตยารักษาโรคได้ในปริมาณที่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นทั้งผู้ผลิตวัคซีนถึงร้อยละ 50 ของความต้องการวัคซีนโลก และเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในราคาที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบสาธารณะสุขของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ อินเดียยังสามารถต่อยอดผลิตยานยนต์ได้อีกจากที่ก็มีศักยภาพสามารถผลิตยานยนต์ได้ปีละ 26.36 ล้านคัน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่คิดเป็นสัดส่วนมากสุดร้อยละ 80 ของการผลิตยานยนต์อินเดียปี 2563
– เม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีช่วยเชื่อมโยงการผลิตอินเดียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกได้มากขึ้นจากที่ในปัจจุบันอินเดียแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับระบบการผลิตโลกเท่าใดนัก เนื่องจากอินเดียยังขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าซับซ้อนสำหรับการส่งออก บทบาทของอินเดียในตลาดโลกจึงเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 20 มีมูลค่าส่งออกที่ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยสินค้าหลักยังคงเป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและสินค้าที่อินเดียมีศักยภาพ อาทิ น้ำมัน โภคภัณฑ์ แร่ เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค ข้าว ฝ้าย อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่าห่วงโซ่การผลิตของอินเดียจะทยอยแข็งแกร่งขึ้นอีกจนขับเคลื่อนการผลิตของอินเดียให้เด่นยิ่งขึ้น จากการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติเกาหลีเมื่อปีที่ผ่านมานับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะโน้มนำการลงทุนผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องตามเข้าอินเดียเพิ่มขึ้น จากที่อินเดียมีโรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตั้งแต่ปี 2557 โดยเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้นจนมีมูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่มีสัดส่วนส่งออกในตลาดโลกเพียงร้อยละ 0.7 นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังมีนักลงทุนขยายการผลิตและการวิจัยพัฒนาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ การลงทุนในอุตสาหกรรม IT ของนักลงทุนที่ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำของโลก และการลงทุนในกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
จะเห็นได้ว่า อินเดียเริ่มกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แม้จะมีข้อจำกัดการผลิตในประเทศอยู่อีกมากแต่เม็ดเงินลงทุนที่ทยอยเข้ามาจะโน้มนำให้โครงสร้างการผลิตของอินเดียเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกได้มากกว่าเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ได้ถอนตัวจากความตกลงการค้าเสรี RCEP ที่ทำให้อินเดียพลาดในการเข้าร่วมกับซัพพลายเชนที่สำคัญของฝั่งเอเชีย ถึงแม้ว่าอินเดียจะมี FTA กับหลายประเทศ อาทิ อาเซียน ชิลี อัฟกานิสถาน ภูฏาน เนปาล สิงคโปร์ และศรีลังกา แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีการผลิตต้นน้ำที่จะเชื่อมโยงการผลิตของอินเดียกับนานาชาติได้ ขณะที่ต้องจับตาพัฒนาการทางเศรษฐกิจของ Quadrilateral Security Dialogue (Quad) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของประเทศที่เป็นทั้งเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีออสเตรเลียเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแร่ธาตุสำคัญ และมีอินเดียที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ ถ้าหากการพบปะผู้นำของกลุ่ม Quad อย่างไม่เป็นทางการในช่วงเดือนกันยายน 2564 สามารถนำไปสู่การเปิดเสรีการค้า/การลงทุน หรือมีแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอาจทำให้อินเดียมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตโลกนับจากนี้ไป
สำหรับไทยในเวลานี้อินเดียเป็นตลาดอันดับ 10 ของไทย และเป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการส่งออกของไทยไปอินเดียในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 เติบโตสูงถึงร้อยละ 57.5 (YoY) มีมูลค่า 4,486 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าระหว่างกันจะมีความตกลง FTA มายาวนาน แต่ความสัมพันธ์ผ่านการส่งออกของไทยไปยังอินเดียมีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2.9 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นต้น อาทิ ทองแดง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เพื่อสนองการผลิตและการบริโภคของอินเดียที่เพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ด้วยแรงขับเคลื่อนของตลาดโลกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอินเดีย ประกอบกับสินค้าไทยเป็นวัตถุดิบขั้นต้นที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศอินเดีย ดังนั้นอินเดียจึงน่าจะเป็นอีกตลาดที่ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติก่อนโควิด-19 โดยในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกอาจเติบโตเชื่องช้าจากฐานปีก่อนที่ปรับสูงขึ้นแต่ตลอดปี 2564
คาดว่ามูลค่าส่งออกไปอินเดียจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ต่ำกว่า 7,700 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 40 สำหรับในระยะข้างหน้า หากอินเดียมีพัฒนาด้านการลงทุนเติบโตอย่างน่าสนใจเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คงโน้มนำความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทยเข้าไปทำตลาดได้ตามมาจากปัจจุบันที่มีมูลค่าค่อนข้างน้อยจำกัดเพิ่มเติมจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นกลุ่นชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้ขยายตลาดใหม่ในเอเชียใต้ได้อีกทางหนึ่ง
Social Links