เศรษฐกิจไทยฝ่าโอมิครอน ฟื้นไม่แน่-ไม่นอน
กนง.คาดปี 65 โต 3.4 % เงินเฟ้อ 1.7%
เศรษฐกิจคู่ค้าในระยะข้างหน้ามีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์Omicron จะจำกัดอยู่ในช่วงแรกของปี 2565 โดยเศรษฐกิจคู่ค้าจะทยอยฟื้นตัวในระยะต่อไป อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (advanced economies: AEs) จะทยอยลดลงจากปี2564 ที่ฟื้นตัวแรงจากปีก่อนหน้า กอปรกับได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่และปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานโลก (global supply disruption) ที่ยืดเยื้อ สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน ทั้งจากการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่ที่กระทบการผลิตและขนส่ง รวมถึงการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ เพื่อชะลอความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์และการเพิ่มความเข้มงวดของภาครัฐต่อกิจกรรมในภาคการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับเศรษฐกิจเอเชียเผชิญแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Delta ในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมเข้มงวด แต่จะทยอยฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป แม้จะมีปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์Omicron
ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัสและการลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางกลุ่มประเทศ AEs ที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของนักลงทุน โดยราคาสินทรัพย์ทางการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับธนาคารกลางกลุ่มประเทศ AEs ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด โดยเฉพาะประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศแผนปรับลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์และส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ด้านธนาคารกลางกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) บางแห่งเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อสูง สำหรับค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ในขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) อ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อนสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มองไปข้างหน้าตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนสูงจาก (1) ความเสี่ยงที่ธนาคารกลางต่างประเทศอาจลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาดเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อสูง (2) การระบาดของสายพันธุ์Omicron ที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (3) ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภายในประเทศ และนโยบายต่างประเทศของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและราคาพลังงานโลก
ภาวะเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยกลับมามากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การจ้างงานและรายได้แรงงานยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด สำหรับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะแผ่วลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้าง ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 6 ล้านคนเป็น 5.6 ล้านคน จากการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงแรกของปีสำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศแต่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบของการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยในปี 2564 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานและข้อจำกัดในการผลิตและขนส่งสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังมีไม่มาก เนื่องจากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการยังมีจำกัด โดยจากผลการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 55 จะยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการแข่งขันสูงและกำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อไทยมีความเสี่ยงด้านสูงจากพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะต้องติดตาม
(1) พัฒนาการการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รุนแรง หรือยืดเยื้อ
กว่ากรณีฐาน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์และความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด
(2) ความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจ ท่ามกลางการระบาดหลายระลอกและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง
(3) ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ (4) ปัญหาglobal supply disruption ที่อาจยืดเยื้อกดดันธุรกิจในภาคการผลิตและการส่งออก
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
• คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ในกรณีฐานคาดว่าจะยังไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยืดเยื้อกว่าคาดได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่องในกรณีฐาน โดยการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกสินค้าในช่วงแรกของปี2565 โดยข้อสมมติในกรณีฐานประเมินว่าแม้การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะมีอัตราการแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบันช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงคาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการควบคุมการระบาดเฉพาะพื้นที่และปิดการลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว (Test & Go) เพียงชั่วคราว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเดิมประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี2565 ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ในช่วงต้นปี2566 สำหรับกรณีเลวร้าย มีข้อสมมติว่าสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะขยายวงกว้างแม้จะมีการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อขีดจำกัดด้านสาธารณสุขในบางพื้นที่และส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดขึ้นมากกว่ากรณีฐาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลง ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงมากจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยและหลายประเทศทั่วโลก กระทบการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงส่งสำคัญ เศรษฐกิจไทยจึงฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ช้ากว่ากรณีฐาน
• ตลาดแรงงานไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดนานกว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม จึงต้องติดตามเครื่องชี้ต่าง ๆ ที่สะท้อนมิติด้านคุณภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องชี้ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อให้สะท้อนการฟื้นตัวรายสาขาเศรษฐกิจและกลุ่มรายได้โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านตลาดแรงงาน อาทิ จำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน รายได้แรงงานที่สูญเสียไปโดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ในปี 2566 แต่ตลาดแรงงานไทยในภาพรวมยังคงเปราะบาง สะท้อนจากแนวโน้มรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรในปี2566 ที่คาดว่าจะยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด
• การระบาดของไวรัส COVID-19 นอกจากจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังอาจมีผลต่อระดับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ โดยการลงทุนที่ชะลอออกไปจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น อุปสรรคในการปรับตัวของแรงงานจำนวนมากที่ต้องหางานประเภทใหม่ ความจำเป็นของธุรกิจในการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด รวมถึงการลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่อาจเปราะบางจากการหยุดชะงักของการผลิต เพื่อมุ่งเน้นให้กระบวนการผลิตต่อเนื่องมากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจฉุดรั้งระดับศักยภาพการผลิตได้ ดังนั้น การประเมินระดับกิจกรรมเศรษฐกิจเทียบกับศักยภาพ (output gap) ต้องคำนึงถึงผลกระทบดังกล่าวด้วย
• อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาพลังงานโลกและยังอยู่ในกรอบเป้าหมายแต่จำเป็นต้องติดตามพลวัตเงินเฟ้อไทยและเงินเฟ้อโลกอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการฯ เห็นว่าในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลักโดยเฉพาะราคาพลังงาน โดยแรงกดดันต่อเงินเฟ้อไทยยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดหลายระลอก ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์มีไม่มาก ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐกิจหลายประเทศที่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดแล้ว (2) ยังไม่เกิดการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังการปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นวงกว้างจนส่งผลให้เกิดการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลให้ระดับราคาปรับสูงอย่างต่อเนื่อง (second-round effect) เช่นที่เกิดขึ้นกับ บางประเทศในกลุ่มประเทศ EMs ในละตินอเมริกา เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยยังไม่เข้มแข็ง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าและแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไว้เอง และ (3) กลไกการดูแลจากภาครัฐมีส่วนช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็วและเกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคมากขึ้น หากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ซ้ำเติมให้ปัญหา global supply disruption ยืดเยื้อ รวมถึงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น กดดันให้ผู้ผลิตส่งผ่านต้นทุนและปรับขึ้นราคาสินค้าเร็วขึ้น จนอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ จึงเห็นควรให้ติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยอย่างใกล้ชิด
• คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเตรียมความพร้อมและประสานมาตรการภาครัฐเพื่อดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดลงเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า มีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย เช่น (1) ความยืดเยื้อของการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (2) ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะทยอยหมดลง และ (3) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลกหากราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันมาตรการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง (debtoverhang) ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม เป็นการลดทอนความเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางได้
การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ยังเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน(FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญในปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
สำหรับในระยะปานกลาง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมแบบบูรณาการโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือนโยบายการเงินต่าง ๆ ในการชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อสอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันสะท้อนการประเมินความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าความเสี่ยงด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ดีมองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับปกติและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินควรต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อหรือต่อเสถียรภาพระบบการเงินปรับสูงขึ้น ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบของนโยบายในระยะปานกลางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
Social Links