แบงก์กรุงเทพออกโรง!ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ APEC 2022
พร้อมชูภาพ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’
ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้าน ต้อนรับผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมประชุม APEC 2022 พร้อมสนับสนุนป้ายต้อนรับ บริเวณเส้นทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ตอกย้ำวิสัยทัศน์แห่งการเป็น ธนาคารระดับภูมิภาค พาลูกค้าเปิดประตูการค้า เชื่อมโยงธุรกิจสู่สากล และสร้างสมดุลการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ปี 2565 หรือ APEC 2022 ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย และพันธมิตรด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 (Communication Partner) ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการเงินธนาคารที่มีรากฐานการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทั้งยังมีเครือข่ายสาขากว่า 300 แห่งใน 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก ขอเชิญชวนคนไทย ทุกคนร่วมกันให้การต้อนรับผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจที่จะเดินทางมาเข้าร่วมในการประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยในการต้อนรับมิตรเขตเศรษฐกิจด้วยรอยยิ้ม ธนาคารกรุงเทพได้ให้การสนับสนุนป้ายต้อนรับขนาด 18 x 200 เมตร บริเวณเส้นทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นเสมือน “ประตู” (Gateway) เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำเอเปค เพื่อแทนคำกล่าวต้อนรับตัวแทนผู้เข้าประชุม APEC 2022 จากสมาชิกเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเริ่มติดตั้งป้ายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม–ปลายปี 2565 ทั้งนี้ ธนาคารได้ส่งมอบสิทธิการใช้งานป้ายในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่กองประชาสัมพันธ์การทูตสาธารณะ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์และต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022
สำหรับการประชุม APEC 2022 จะถูกจัดขึ้นในหัวข้อหลักคือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance. เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การฟื้นฟูหลังผ่านพ้นปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยโมเดลดังกล่าวได้รวมหลักการความยั่งยืนทั้ง 3 ด้านมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อ “สร้างสมดุล” (Balance all things) เพื่อร่วมกันตอกย้ำถึงความพยายามที่จะดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเร่งผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายทวีลาภ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญสำหรับการเติบโตในภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาดในระดับภูมิภาคและสากล ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจ ด้วยเครือข่ายสาขาในต่างประเทศกว่า 300 แห่ง ใน 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก รวมถึงในสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเช่นกัน
“ธนาคารกรุงเทพเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีสมาชิกถึง 21 เขตเศรษฐกิจ จะเป็นโอกาสแห่งความร่วมมือที่สำคัญที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยจะได้รับโอกาสทางการค้าและการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างและเติบโตไปด้วยกันกับลูกค้า มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านเครือข่ายสาขา ข้อมูล ความเข้าใจในตลาดประเทศต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าเปิดประตูการค้าการลงทุนไปยังต่างประเทศได้อย่างมืออาชีพ เพื่อจะเป็นอีกหนึ่งความเชื่อมโยงธุรกิจไทยสู่ตลาดสากล อันจะเป็นการต่อยอดธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตลอดจนเติบโตสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน” นายทวีลาภ กล่าว
Social Links