“แปซิฟิค พ้อยท์” ปักหมุดรุกตลาดแม่และเด็ก CLMV
หลังแก้โจทย์โควิดดันบริษัทโต 40%
แปซิฟิค พ้อยท์ แสดงศักยภาพผู้นำตลาดนำเข้าสินค้าแม่และเด็ก หลังแก้โจทย์โควิดพลิกวิกฤตดันช่องทางออนไลน์ขยายสัดส่วน 70% และดันยอดขายบริษัทโตในตลาดพรีเมียมด้วยสินค้ามาตรฐานทั้งยุโรปและอเมริกากว่า 40% พร้อมจับโอกาสโควิดคลาย เตรียมร่วมงานแฟร์แม่และเด็กนานาชาติแห่งภูมิภาคอาเซียน เดินหน้านำ 3 แบรนด์ชั้นนำ Micro Scooters, Nuna, Joie รุกตลาด CLMV สร้างคู่ค้าใหม่ในตลาดเพื่อนบ้าน ยกระดับบริษัทสู่ Brand builder ในตลาดสินค้าแม่และเด็กระดับภูมิภาค
นางสาวพีม อนันตประกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค พ้อยท์ จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจมาจากความชื่นชอบส่วนตัวในของเล่นของใช้เด็ก ก่อนยกระดับจากแพชชันนั้นมาสู่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2545 โดยในปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายของเล่นเพื่อส่งเสริมและสร้างพัฒนาการเด็กเล็ก โดยมุ่งเน้นช่วงวัยแรกเกิด จนถึง 3 ปี รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ของแม่และเด็กแบรนด์ชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป มากกว่า 10 แบรนด์ คิดเป็นจำนวนสินค้ามากกว่า 1,500 SKU
ด้วยความชื่นชอบที่ต้องการคัดเฉพาะสินค้าพรีเมียมมาสู่ประเทศไทย ทำให้แปซิฟิค พ้อยท์ เน้นที่การทำตลาดในกลุ่มกลาง-บน ซึ่งแต่ละสินค้าจะต้องผ่านเกณฑ์การคัดสรรจากปัจจัย 3 อย่าง คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพัฒนาการสม่ำเสมอ เป็นของใหม่ที่ทันสมัยและไม่ตกเทรนด์ รวมถึงต้องเป็นแบรนด์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงสุด สุดท้ายคือต้องมีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานคนไทย
“ความที่ลูกค้าของเราเป็นกลุ่มพรีเมียม ความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่คือพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก หรือกระทั่งพยายามทำความเข้าใจ ศึกษาหาสิ่งที่มีมาตรฐานระดับ Global brand ที่เหนือกว่าแบรนด์อื่น ๆ สุดท้ายลูกค้าก็มาหาเราเอง อีกด้านหนึ่ง บริษัทก็ได้ศึกษาสิ่งที่ลูกค้าต้องการร่วมกับพนักงานขายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างที่คนไทยต้องการแต่ยังไม่มีในตลาด เราก็จะไปหาแหล่งวัตถุดิบ หรือ หาซัพพลายเออร์มาทำการผลิตเพื่อให้ตอบโจทย์กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด”
ปัจจุบัน แปซิฟิค พ้อยท์ มีช่องทางการขายหลัก 5 ช่องทาง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ, ร้านจำหน่ายสินค้าแม่และเด็ก ซึ่งรวมถึง ร้าน Baby Basket จำนวน 2 สาขา ที่ห้างเมกา บางนา และเซ็นทรัลเวิลด์, งานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์, ช่องทางโซเชียวมีเดีย และรวมถึงมาร์เก็ตเพลส ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนการขายกว่า 70% ซึ่ง นางสาวพีม มองว่าการเติบโตนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็ว และยังเป็นผลจากการปรับตัวของบริษัทในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา
“แต่ก่อนบริษัทเติบโตมาจากการขายที่ห้างเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีช่องทางออนไลน์เข้ามารวมถึงมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น มันเหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ธุรกิจเปลี่ยนไป ช่วงที่ห้างปิด เราต้องบังคับตัวเองให้ปรับตัวเร็ว ต้องดึงทีมที่ไม่มีงานในตอนนั้นขึ้นมาทำออนไลน์ ทำโซเชียล ทำไลฟ์เข้าถึงลูกค้าโดยตรง เพื่อให้ยอดขายไม่เป็น 0 โดยแม้จะกลับไปยอดเดิมไม่ได้ทันที แต่ก็สร้างกำไร ที่สำคัญการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสนี้ช่วยให้เราตามตลาดทัน กลายเป็นว่าเรามีช่องทางที่แข็งแรงเพิ่มขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างมาก”
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการยังกล่าวอีกว่าช่องทางสำคัญหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง คือการจัดงานแฟร์ ที่มีจุดแข็งในการได้สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง และเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์การศึกษาทิศทางตลาด เช่น ธุรกิจของคู่แข่ง เทรนด์สินค้า ฯลฯ ซึ่งในวันที่ 5-8 เมษายน 2566 นี้ แปซิฟิค พ้อยท์ มีแผนจะเข้าร่วมงาน “Kind + Jugend ASEAN 2023” งานแสดงสินค้านานาชาติที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์และของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแห่งภูมิภาคอาเซียน ณ ไบเทค บางนา
“บริษัทมีการดีลกับคู่ค้าให้เราเป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียวแบบ Exclusive ในไทย และประเทศข้างเคียง ดังนั้นการร่วมงานแฟร์ระดับภูมิภาค จึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะได้ทำความรู้จักกับตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาด CLMV ให้เขาได้มาเห็นมาตรฐานของ Global brand ในงานที่จัดใกล้เคียงในประเทศไทยอีกด้วย”
ทั้งนี้ แปซิฟิค พ้อยท์ จะมีการนำแบรนด์สินค้าชั้นนำรวม 3 แบรนด์ไปจัดแสดงในงาน Kind + Jugend ASEAN 2023 ได้แก่ Micro แบรนด์สกูตเตอร์ระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์, Nuna แบรนด์รถเข็นและคาร์ซีทระดับพรีเมียมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Joie แบรนด์รถเข็น คาร์ซีทรวมถึงอุปกรณ์เบบี้เกียร์จากประเทศอังกฤษ ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ทุกครอบครัวจับต้องได้ง่าย โดย นางสาวพีม ตั้งเป้าว่าการเข้าร่วมงานครั้งนี้จะช่วยสร้างผลประโยชน์ให้กับคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท และช่วยยกระดับบริษัทให้เป็น Brand builder ในตลาดสินค้าแม่และเด็กระดับภูมิภาค
ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2565 แปซิฟิค พ้อยท์ มียอดขายเติบโตขึ้นราว 30-40% มาจากความนิยมเพิ่มขึ้นของแบรนด์ Nuna และ Joie รวมถึงบริการที่มีคุณภาพ ทั้งด้าน After sale service การรับประกัน 3-5 ปี หรือการรักษามาตรฐานราคาที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศโดยที่ลูกค้าสามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย ส่วนอีกหนึ่งด้านสำคัญ เกิดจากความพยายามในการสื่อสารให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างคุณพ่อคุณแม่ ถึงการใช้ของเล่นพัฒนาการให้ได้ประสิทธิภาพ หรือการใช้งานคาร์ซีท อย่างปลอดภัยที่สุด โดยไม่ได้มุ่งเน้นขายเพียงอย่างเดียว
“การที่เด็กได้ใช้ของเล่นพัฒนาการก็เหมือนกับการได้เตรียมพร้อมตัวเอง เพราะเมื่อถึงจุดที่ต้องเรียนรู้อย่างจริงจังเช่นในโรงเรียน ถ้าเด็กเริ่มต้นโดยที่ไม่รู้อะไรมาก่อน ก็อาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นหรืออาจตามเพื่อนไม่ทันจนเสียความมั่นใจ กลับกันถ้าเด็กมีความพร้อม ทุกการเรียนรู้ก็จะทำได้ง่ายขึ้นและช่วยสร้างความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ทำ”นางสาวพีม เสริมในตอนท้าย
Social Links