โลกฝืด-จีนแผ่ว ส่งออกไทย ธค.ร่วง!
คาดปี 66 ติดลบ 0.5%
การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้าทำให้การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2565 หดตัวลึกที่ -14.6% (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่า 21,718.8 ล้านดอลลาร์ฯ ฉุดให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 5.5% (YoY)
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2565 ได้แก่ การส่งออกสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวก็ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวเช่นกันที่ -25.7% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายตลาดคู่ค้าของไทยก็พบว่าหดตัวเกือบทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2565 โดยเฉพาะจีนที่หดตัวลึกถึง -20.8% ส่งผลให้ทั้งปีหดตัวถึง -7.7% ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีก่อน ประกอบกับการอ่อนแรงของกำลังซื้อภายในประเทศจีนที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านโดยเฉพาะการคุมเข้มของมาตรการควบคุมโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2565 ขณะที่การส่งออกไปยังตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบียยังคงเติบโตได้ดีในเดือนดังกล่าวและส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกไปยังตะวันออกกลางขยายตัวได้ถึง 22.8% โดยเป็นไปได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวอาจยังขยายตัวต่อไปได้ในปี 2566 จากการสนับสนุนของภาครัฐ
เมื่อมองไปในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปี 2566 ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะบั่นทอนกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 และปัจจัยฐานในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง จึงประเมินว่าภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 อาจยังคงเผชิญกับการหดตัวที่ -0.5% (หดตัวลดลงจากที่คาดไว้เดิมที่ -1.5% ณ เดือนธันวาคม 2565) หลังได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศของจีนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2566 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.4% (จากเดิมที่คาดว่าจะไม่มีการเติบโต)
Social Links