สนใจการเมือง  แต่ไม่สนลาออก ไม่ผิดกติกาไทยนิยม??

สนใจการเมือง  แต่ไม่สนลาออก ไม่ผิดกติกาไทยนิยม??

 

สนใจการเมือง  แต่ไม่สนลาออก ไม่ผิดกติกาไทยนิยม??

            อาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2561 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ประกาศความชัดเจนตามสัญญาให้ประชาชนทั้งประเทศรู้ว่า “สนใจงานการเมือง”

            คำว่าสนใจงานการเมือง ก็ตีความได้ว่าหลังเลือกตั้งตามโรดแม็พ 24 กุมภาพันธ์ 2562  “บิ๊กตู่” จะมีบทบาทกระโดดโลดเต้นทางการเมืองในรัฐบาลใหม่

            แม้ว่า “บิ๊กตู่” มิได้เอ่ยปากว่า อยากเป็น “นายกรัฐมนตรี” สืบททอดอำนาจอีก  แต่ก็เดากันได้ไม่ยากว่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  “บิ๊กตู่” ขอจองไว้

            เหตุที่ “บิ๊กตู่” มั่นใจว่าสามารถจองเก้าอี้นั่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้แน่ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ปูทางเอาไว้นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญจากฝีมือ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการ่างรัฐมนตรี  ปรมาจารย์ด้านกฎหมายจอมเก๋าไร้เทียมทาน

            ประกอบกับมีความสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนของ “นิด้าโพล” รวม 4 ครั้งตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงไม่กี่วันก่อน  ซึ่งเสียงเชียร์ “บิ๊กตู่” ยังมาเป็นอันดับ 1

            แต่ “บิ๊กตู่” ยังไม่เคลียร์ว่าจะรับเชิญไปอยู่พรรคการเมืองไหน  เพียงแต่พูดให้คิดตีความไปอีกว่า ยังไม่รู้  และยังไม่มีพรรคไหนมาชักชวน ขอดูสถานการณ์ก่อน!!

            เมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศชัดว่าสนใจการเมือง  เพราะรักเธอประเทศไทย ส่งผลให้รัฐมนตรีในคณะ “บิ๊กตู่” อีก 1 ท่านคือ “กอบศักดิ์  ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ก็ประกาศในเวลาไล่เลี่ยกันว่า “สนใจการเมือง” เช่นกัน

            ส่วนจะเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ  ตามกระแสข่าวปล่อยหรือไม่   “รัฐมนตรีกอบศักดิ์” ไม่พูดชัด  พูดแต่เพียงว่า อีกไม่นานก็จะรู้  ซึ่งวันนี้ก็คงรู้กันแล้วว่าเป็นไปตามข่าวปล่อยหรือไม่

            สำหรับ  “ท่านสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  และ “ท่านอุตตมะ  สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้ง “ท่านสุวิทย์  เมฆษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ทีมีกระแสข่าวลือกระฉ่อนมานานว่า “สนใจงานการเมือง” จะเข้าร่วมงานกับ “พรรคพลังประชารัฐ”

          ซึ่งข่าวลือข่าวปล่อยดังกล่าวก็คงจะเป็น “ข่าวจริง” ที่ไม่ต้องคาใจสงสัยตะหงิด ๆ อีกต่อไป!!

          ด้วยเหตุฉะนี้และฉะนั้น  “พรรคพลังประชารัฐ” จะก้าวเดินหน้าไปด้วยความเติบใหญ่คับฟ้าการเมืองไทย เพราะมีทั้งรัฐมนตรีในปัจจุบันและอดีต ส.ส.หลายคนลาออกจากพรรคเดิมมาร่วมด้วยช่วยกันมากหน้าหลายตาที่คุ้น ๆ กันในแวดวงการเมือง

            รัฐมนตรีของคณะ “บิ๊กตู่” ที่ได้เปิดตัวว่าจะเล่นการเมืองจริง ๆ จัง ๆ ไม่ทำลับ ๆ ล่อ ๆ  ก็ไปได้อย่างสบายสุขสมอุรา!!

            เพราะ “บิ๊กตู่” เปิดไฟเขียวด้วยความยินดี  แต่ต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ อย่าทำให้ผิดกฎหมายก็แล้วกัน!!

            อ๊ะ  อ๊ะ เกือบลืม “ท่านสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ อีกคน ซึ่งปิดกันให้แซ่ดว่าเป็น ส.พี่ใหญ่ของ “กลุ่มสามมิตร”  ในอีกไม่นานเกินรอก็ต้อง “สนใจงานการเมือง” เปิดหน้ามาร่วมกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ตามเกมการเมืองที่ได้วางเอาไว้

อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีที่ “สนใจงานการเมือง” ก็คงทำแบบเดียวกับ “บิ๊กตู่” เช่นเดียวกัน คือ “ไม่ลาออก”

            เหมือนอย่างที่ “บิ๊กตู่” บอกอย่างหนักแน่นว่า  ไม่ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช    ดังนั้นการ “ไม่ลาออก”  จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ เพราะฉะนั้นใครหน้าไหนก็ว่าอะไรไม่ได้

            นับจากวันนี้เป็นต้นไป  “บิ๊กตู่” ของบรรดาแฟนคลับ จะต้องโดนกระแนะกระแหน กระแทกกระทั้น เสียดสี ไล่บี้ดิสเครดิต  จากวาจาทางการเมืองของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต้องประดิษฐ์ถ้อยคำแบบปากอยู่ไม่สุข

            ฟังแล้ว ทนได้ก็ทนไป  แต่ที่แน่ ๆ “บิ๊กตู่” ก็ต้องเล่นบท “หน้าทน” เพื่อสืบทอดเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” หลังเลือกตั้ง

          ส่วน “บิ๊กตู่” จะได้เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ด้วยวิธีวิชาการเมืองใด ไม่ต้องเสียเวลาคิดให้เปลืองหัวสมอง

            เพราะเกมของ คสช. และเกมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จองเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ล่วงหน้าให้ “บิ๊กตู่” ได้นั่งอย่างถูกกติกาไทยนิยม

            ก็ได้แต่หวังว่า “บิ๊กตู่”  ไม่ทำให้นักการเมืองที่ขอจองคิวเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต้องรอไปถึง 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาตินะ

            ถ้าขอเวลานานขนาดนั้น  รับรองว่าการเมืองอาจมีเหตุปัจจัย “โป๊ะแตก”ให้วุ่นวายยุ่งเหยิงอุรุงตุงนังแน่!!

            เนื่องจากการเมืองที่ไม่มี ม.44 อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทุกลมหายใจเข้าออก??

                                                นายจักรยาน

           

 

           

           

           

You may also like

ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2567

ทิศทางตล